อยากหัดสเก็ตช์ภาพ ขอคำแนะนำหน่อย

in FAQs by hackhq on 12 Feb 2014

มีผู้อ่านหลายท่านเลยครับที่มักจะเข้ามาฝากคำถามประมาณว่าเห็นภาพสเก็ตช์หลายภาพสวยงาม ดูแล้วสนุกเพลิดเพลินเลยอยากจะสเก็ตช์ได้บ้างแต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไรดี? อุปกรณ์ที่ใช้ควรเลือกใช้อะไร? และจะต้องมีพื้นฐานอะไรบ้างถึงจะสเก็ตช์ใด้? ต้องไปลงเรียนศิลปะเพิ่มเติมหรือไม่? วันนี้ผมเลยจะมาบอกให้ฟังอย่างหมดเปลือกเลยครับ!


how to sketch-0
ก่อนอื่นผมอยากใหัคุณผู้อ่านลบความคิดที่ว่าถ้าอยากวาดรูปสวยวาดรูปเป็นจะต้องมีพื้นฐานการเรียนวาดรูปหรือเรียนศิลปะมาก่อนซึ่งผมมองว่าเหตุผลนี้มันแมวน้ำมากครับ! การสเก็ตช์รูปไม่จำเป็นต้องไปเรียนศิลปะอะไรมากมายนะครับ ขอแค่มี “ความอยากที่จะวาดรูป” แค่นั้นก็พอแล้วครับ ส่วนจะเริ่มต้นอย่างไรนั้นผมขอเล่าจากประสบการณ์ของผมเลยละกันะครับ แบ่งเป็นข้อๆ เริ่มตั้งแต่ต้นเลยนะ

  1. สไตล์

    แรกเริ่มเดิมทีผมไม่ได้สเก็ตช์เป็นชีวิตจิตใจหรอกครับ จะมีบ้างก็แค่การสเก็ตช์ออกแบบหน้าตาเว็บไซต์แต่ก็ไม่ได้วาดรูปเก่งอะไรเลยยยย จนกระทั่งวันนึงผมกูเกิลหาข้อมูลของสมุด moleskine หาไปหามาจนทำให้ได้ไปเจอเข้ากับภาพสเก็ตช์ของศิลปินคนนึงเข้า ซึ่งสไตล์การสเก็ตช์ของเขานั้นจะเป็นการวาดเส้นด้วยปากกาหมึกสีดำแล้วลงสีด้วยสีน้ำซึ่งก็คือ Russell Stutler ผมเห็นครั้งแรกแลัวก็ร้องว้าวเลยครับ! รูปภาพนั้นสวยงามมากมีชีวิตชีวามากจนผมคิดว่าถ้าวาดได้แบบนี้คงจะเท่ไม่หยอกเลยทีเดียว (อืม…จะเอาไว้อวดสาวอ่ะ)

    พอลองดูงานของคนอื่นเรื่อยๆ ก็เริ่มชอบผลงานของสเก็ตช์เชอร์บางท่านอย่างเจาะจงครับ งานของหลายท่านถือเป็นต้นแบบสไตล์การสเก็ตช์ของผมได้เลยก็ว่าได้ (ถึงแม้ว่าฝีมือผมจะห่างไกลจากเขาเหล่านั้น 493,882,600,990 ปีแสงก็ตามที โหไอบ้า!! ไกลขนาดนั้นทะลุดาวนาเม็กไปแล้ว!) ไม่ว่าจะเป็น Nina Johansson, Pete Scully, Liz Steel การดูงานสเก็ตช์มากๆ ยิ่งทำให้เราหลงใหลและอยากที่จะสเก็ตช์ให้สวยเหมือนเค้ามั่งครับ

    ตั้งแต่นั้นผมก็เริ่มขีดๆ เขียนๆ วาดรูปภาพในทุกโอกาสที่หาได้ครับ ไม่ว่าจะตอนรออาหารที่สั่งมาทาน อู้งานมาวาดเล่น(นายคงไม่ได้อ่านบล็อกผมใช่ไหมครับ? ถ้าอ่านช่วยเข้ามาคอมเม้นต์หน่อยนะครับ) วาดพวกรูปทรงง่ายๆ ไม่ว่าจะเป็นกล่องสีเหลี่ยน ทรงกระบอก ขวดน้ำ จนกระทั่งเริ่มมั่นใจจึงค่อยขยับไประดับต่อไป… เริ่มดูงานสเก็ตช์หลากหลายสไตล์ของสเก็ตช์เชอร์หลายท่านมากยิ่งขึ้น เช่นคนนี้ชอบการวาดเส้นเราก็เลียนแบบๆๆ วาดๆๆ ฝึกๆๆ ส่วนอีกคนชอบสไตล์การลงสีน้ำเราก็ดูแล้วศึกษาทดลองระบายสีตาม จนสุดท้ายเมื่อเรานำสไตล์ต่างๆ ที่เราชอบมารวมกันและปรับแต่งตามแต่ที่เราชอบแล้ว มันก็จะกลายมาเป็นสไตล์การสเก็ตช์ของเราไปในที่สุดครับ

    …เมื่อวาดพอดูรู้เรื่องขึ้นแล้วมันก็หนีเรื่องนี้ไม่พ้นครับ สเก็ตช์เชอร์ที่เราชื่นชอบนั้นเขาใช้ปากกาอะไร? สีอะไร? หมึกอะไร? ผมจึงเริ่มที่จะขวนขวายหาอุปกรณ์ต่างๆ เหล่านั้นมาลองใช้ครับ …นั่นจึงเป็นที่มาของตำแหน่งเจ้าสำนักพรรคกระยาจกในปัจจุบัน… (ไม่ได้ได้มาเพราะโชคช่วยจริงๆ แฮะ T_T)

  2. อุปกรณ์

    เรื่องอุปกรณ์นี้เป็นอะไรที่กว้างมากๆๆๆ ซึ่งแน่นอนว่าอุปกรณ์ในการสเก็ตช์ของแต่ละคนนั้นก็จะแตกต่างกันออกไป บางคนถนัดสีไม้ก็เลือกสีไม้เป็นอาวุธคู่กาย หรือบางคนถนัดการใช้ดินสอแท่งเดียวทั้งวาดและลงเงาก็ไม่ถือว่าเป็นเรื่องผิดปรกติอะไรแถมเท่อีกด้วย อุปกรณ์ที่ใช้ในการสเก็ตช์นั้นไม่ต้องเป็นอะไรที่มีราคาแพงเลยครับ ซึ่งจริงๆ แล้วอุปกรณ์นั้นจะเป็นอะไรก็ได้ขอแค่เพียงใช้สร้างสรรค์เป็นรูปภาพออกมาได้ ความหลากหลายนี่แหละครับที่ทำให้การสเก็ตช์มันน่าสนุกเสียจริงๆ อันที่จริงในตอนแรกนั้นผมไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าจะเขียนอะไรให้คุณผู้อ่านได้อ่านกันในหัวข้อนี้เพราะมันกว้างมาก ก็เลยขอเล่าถึงการเลือกอุปกรณ์ที่ใช้ในการสเก็ตช์สไตล์ของผมก็แล้วกันนะครับ (จะมีใรอยากรู้มั้ยอ่ะ -*-)

    ปากกา

    how to sketch-1
    เนื่องจากสไตล์การสเก็ตช์รูปของผมเป็นแบบเน้นลายเส้นแล้วค่อยลงสีน้ำตามภายหลัง ปากกาจึงเป็นสิ่งจำเป็นอันดับแรกของการสเก็ตช์ครับ ผมชอบสไตล์การวาดเส้นที่หนักแน่นคมชัดเน้นให้เห็นถึงขอบคมและรูปทรงได้อย่างชัดเจนแต่ทั้งนี้เส้นจะต้องไม่มีขนาดที่หนาเกินไปเพราะภาพที่ผมสเก็ตช์ส่วนใหญ่จะวาดลงบนสมุดขนาดเล็ก เส้นปากกาขนาดเล็กจึงเป็นทางเลือกของผมครับแต่ว่าเส้นนั้นก็จะต้องคมชัดและไม่เล็กจนเกินไปจนขาดความหนักแน่นนะครับ ผมจึงเลือกที่จะใช้ปากกาขนาด 0.3 – 0.5 ไม่ใหญ่กว่านี้และไม่เล็กไปกว่านี้ครับ ซึ่งจะเป็นปากกาอะไรก็ได้นะครับแต่ต้องเป็นหมึกที่สามารถกันน้ำได้เพราะเวลาโดนสีน้ำจะได้ไม่เลอะเทอะครับ (เดี๋ยวเล่าเรื่องหมึกต่อ)

    ในตอนแรกที่หัดสเก็ตช์นั้นผมยังไม่ใช้หรอกครับไอเจ้าปากกาเทพลามี่เนื่องด้วยว่าหมึกมันไม่กันน้ำ (ตอนนั้นยังไม่คลั่งหมึกหน่ะ -..-) เลยหันไปใช้พวกปากกาหัวสักหลาดเช่น Pigma หรือ Artline ครับ เพราะนอกจากหมึกจะกันน้ำแล้ว เส้นที่ได้ก็คมแถมราคาก็ไม่แพงอีกต่างหาก พกพาสะดวกและถึงตกหายก็ไม่เสียดายมากนัก..แต่อย่าให้หายเหอะ! ต่อมาภายหลังรู้สึกลำบากเพราะต้องพกทั้งปากกา Artline และก็ลามี่(ที่เหน็บกระเป๋าเสื้อเป็นประจำ) เลยคิดว่าไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว ทำไมไม่ลองหาหมึกกันน้ำมาใช้ดู? จ่ายค่าขนส่งแพงหน่อยแต่จะสะดวกขึ้นมากโข…ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา บล็อกแห่งนี้ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นครับ…

    หมึก

    how to sketch-2
    ก็อย่างที่บอกว่าหมึกที่ผมใช้จะต้องกันน้ำได้ดี ผมเลยจัดการหาหมึกกันน้ำที่ได้ชื่อว่า “กันน้ำได้ดีที่สุดในโลก” มาทดลองใช้ครับ แน่นอนว่าทั้งหมดนั้นผมได้รีวิวเอาไว้แล้วยังไงก็ลองตามไปอ่านกันได้เลยนะ พอได้หมึกกันน้ำมาใช้เลยยิ่งทำให้ผมสามารถสเก็ตช์ได้ตลอดเวลาและไม่กังวลเลยว่าเมื่อลงสีน้ำแล้วจะเลอะเทอะ กลายเป็นว่าผมยิ่งสเก็ตช์บ่อยขึ้น ทุกที่ทุกเวลาตามที่ใจอยากเลยเชียวครับ

    สีน้ำ

    how to sketch-3
    อันที่จริงสีน้ำผมไม่ค่อยได้ทดลองหลายยี่ห้อมากนักแต่จะพุ่งตรงไปที่สีน้ำที่ได้รับความนิยมที่สุดและหาซื้อง่าย คุณภาพดี นั่นก็คือสีน้ำของยี่ห้อ Winsor & Newton ครับ โดยเริ่มแรกนั้นผมใช้สีเกรดนักเรียน Cotman เพราะราคาไม่แพงมากนักแถมคุณภาพอยู่ในระดับที่ดี บีบจากหลอดใส่จานสีที่สามารถหาได้ตามร้านเครื่องเขียนทั่วไปแล้วทิ้งไว้ให้แห้งก็สามารถพกไปไหนมาไหนเวลาที่ออกไปสเก็ตช์ได้ครับ

    พอสเก็ตช์บ่อยขึ้นจึงเริ่มเรื่องมากกับสีน้ำมากขึ้น รู้สึกว่าสีที่ใช้อยู่มันไม่สด ต้องระบายหลายครั้งกว่าจะได้เนื้อสีที่ต้องการ หรือบางสีก็ดันมีเนื้อไม่ละเอียดผมจึงเริ่มหาสีน้ำเกรดอาร์ตทิสมาใช้ครับ และแน่นอนว่าจะหนีไม่พ้นของยี่ห้อ Winsor & Newton อีกนั่นแหละ ราคาก็แพงเอาเรื่องครับหลอดเล็กนิดเดียวก็ปาไปเกือบ 300 บาทล่ะ ผมจึงเลือกซื้อเฉพาะบางสีที่ใช้บ่อยจริงๆ เท่านั้นครับ…ซึ่งก็หมดไปเป็นพันอยู่ดี T_T
    how to sketch-4
    ที่สำคัญที่สุดเรื่องสีน้ำนั้นคงจะหนีไม่พ้นความรุงรังหากต้องออกไปสเก็ตช์นอกสถานที่ ดังนั้นผมจึงอยากแนะนำว่าให้เลือกจานสีที่ขนาดเล็กกระทัดรัดแต่ก็ต้องมีช่องใส่สีให้ครบถ้วนตามที่คุณต้องการครับ บางคนอาจจะใช้สีหลายสีเพราะสะดวกกว่ามานั่งผสมเองในแต่ละครั้ง หรือบางคนอาจจะใช้แค่เพียง 8 สีก็เพียงพอแล้ว ลองนึกดูว่าคุณต้องพกจานสีขนาด 30 หลุมอันเท่า Macbook Air ไปสเก็ตช์ในร้านกาแฟคงไม่หล่อแน่ๆ ใช่ครับ…ผมทำมาแล้วคนหันมามองทั้งร้านเลย (กำลังทยอยทดสอบสีน้ำอื่นๆ อยู่นะครับ เดี๋ยวถ้ารีวิวเสร็จจะมาเพิ่มในนี้อีกละกัน)

    พู่กัน

    how to sketch-5
    การสเก็ตช์คือการวาดรูปจับรายละเอียดแต่ที่สำคัญในเวลาที่จำกัด ดังนั้นเราคงไม่มีเวลามากมายในการนั่งลงสีแต่ละจุดอย่างบรรจงเหมือนที่เราวาดภาพในสตูดิโอหรือที่บ้านเราเป็นแน่ครับ พู่กันก็จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับการสเก็ตช์ด้วยเช่นกัน เป็นเรื่องที่ไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าการไปสเก็ตช์ด้วยสีน้ำนอกสถานที่นั้นเป็นเรื่องรุงรังระดับเทพเจ้ายังเกาหัว ก็ไหนจะจุ่มน้ำ จุ่มสี ระบายๆๆ ล้างพู่กัน ซับน้ำ จุ่มน้ำ ปาดสี ผสมๆ ระบาย โว๊ะ!! อะไรมันจะรุงรังขนาดนั้น!! ยิ่งถ้าคุณสเก็ตช์กลางแจ้งที่ไม่มีแม้แต่โต๊ะให้วางอุปกรณ์ในการใช้สีน้ำก็ยิ่งลำบากขึ้นไปอีกครับ ดังนั้นพู่กันสีน้ำควรจะเป็นอะไรที่จะสามารถใช้ได้สะดวก ขนาดพกพาง่ายไม่ใช่หางยาวเป็นศอกเหมือนพู่กันทั่วไป

    ผมจึงเลือกใช้พู่กันที่เรียกว่า waterbrush ครับเพราะพู่กันแบบนี้มีน้ำในตัวทำให้เราไม่ต้องกังวลกับถังใส่น้ำหรือการล้างทำความสะอาด มันจึงถือเป็นการลดขั้นตอนที่ยุ่งยากต่างๆ ลงได้เยอะทีเดียวครับ

    แต่ถึงกระนั้น waterbrush เองก็มีข้อจำกัดในตัวมันเองที่ไม่สามารถใช้งานได้เทียบเท่ากับพู่กันแบบปรกติธรรมดาได้ นั่นจึงเป็นที่มาของพู่กันอีกอันที่ผมพกติดตัวครับ เป็นพู่กันแบบธรรมดาแต่พกพาสะดวก สามารถใช้งานได้เหมือนกับพู่กันที่ใช้ในสตูดิโอเลย แต่ก็แน่ล่ะ ยังไงก็ต้องแลกมากับความรุงรังนิดนึงอ่ะนะ

    สมุด

    how to sketch-6
    สมุดนี่ก็เช่นเดียวกันครับต้องเลือกให้เหมาะกับสไตล์การสเก็ตช์ของเราเอง หากเราเป็นสเก็ตช์เชอร์เน้นลายเส้นไม่ได้ลงสีน้ำ ก็อาจจะเลือกสมุดสเก็ตช์ที่เนื้อกระดาษเหมาะกับหมึกปากกาหรือดินสอเป็นหลักครับ แต่ถ้าเป็นสไตล์สีน้ำก็ต้องเลือกสมุดที่มีกระดาษพิเศษสำหรับสีน้ำจริงๆ กระดาษหนาหลายแกรมหน่อย โดยที่แนะนำควรจะหนาอย่างน้อย 270 แกรมขึ้นไปครับเพราะเวลาระบายสีน้ำจะได้ไม่งอ สเก็ตช์ได้ทั้งสองด้านและเก็บสีได้สดสวยไม่ทำให้งานหม่นหมองครับ

    อีกข้อที่เป็นเรื่องสำคัญที่ผมประสบเองกับตัวเลยก็คือ ผมเป็นพวกเสียดายสมุดครับ! พยายามแก้ไขอยู่ตลอดเวลาจนตอนนี้อาการเริ่มกลับเป็นปรกติขึ้นแล้ว(ฟังดูเหมือนพวกติดยาอ่ะว่ามั้ย? -*-) เรื่องของเรื่องมันก็คือเวลาที่เราได้สมุดสเก็ตช์กระดาษเนื้อดีๆ รูปเล่มสวยราคาแพงมาครอบครอง เราก็รู้สึกเสียดายไม่กล้าวาดไม่กล้าเขียน ซึ่งนี้เป็นอุปสรรคที่ร้ายแรงมากครับ! มัวแต่หวงสมุดแล้วเมื่อไหร่ถึงจะได้สเก็ตช์! ผมจึงแนะนำว่าหากจะเริ่มต้นสเก็ตช์ควรเลือกซื้อสมุดที่มีราคาไม่แพงแบบว่าวาดทิ้งวาดขว้างได้ เราจะได้กล้าที่จะสเก็ตช์ในทุกๆ โอกาสโดยไม่ต้องกลัวสมุดไม่สวยยังไงล่ะครับ แต่ก็ควรจะมีสมุดเจ๋งๆ ไว้สักเล่มนึงเพื่อให้เป็นเป้าหมายไว้ วันไหนเรามั่นใจแล้วก็มาสเก็ตช์ลงเจ้าสมุดเจ๋งนี่ทีนึง จะช่วยให้เรามีกำลังใจขึ้นมากเลยครับ

    อย่าลืมนะครับ!! ว่าอุปกรณ์มันเป็นเพียงแค่เครื่องมือเท่านั้น ฝีมือและการฝึกฝนต่างหากที่สำคัญที่สุด ไม่ใช่ว่าอุปกรณ์ดีเลิศพู่กันขนม้าเปกาซัส หมึกหยดน้ำตาของคราเคน หรือสีน้ำจากอัญมณีในตำนาน มันแต่เพียงช่วยให้เราสามารถสเก็ตช์ได้สะดวกสบายและงานเราสวยสมบูรณ์ได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นนะครับ ฝีมือและการฝึกฝนต่างหากที่สำคัญที่สุด

  3. การฝึกฝน

    how to sketch-7
    แน่นอนว่าการจะสเก็ตช์ให้ได้เก่ง สวยงามตามแต่ใจต้องการของเรานั้นนอนอยู่บ้านรีวิวปากการีวิวหมึกนั้นทำให้เก่งขึ้นไม่ได้แน่ๆ ครับ (เอ้า เข้าตัวเลย) มันต้องมีการฝึกฝนครับ หมั่นสเก็ตช์ในทุกครั้งที่มีโอกาส เช่นผมนั้นจะพกสมุดสเก็ตช์ติดตัวอยู่เสมอครับไม่ว่าจะไปไหนมาไหนก็ตาม บางครั้งก็รู้ดีว่าอาจไม่ได้สเก็ตช์หรอกแต่ใครจะไปรู้ เผื่อมีเหตุการณ์หรือวิวที่อยากสเก็ตช์ขึ้นมาจะได้มีสมุดไว้สเก็ตช์ไม่ขาดมือ
    ผมไม่ถือสานะครับเรื่องสเก็ตช์จากรูปถ่าย เพราะบางครั้งบางจังหวะเราไม่สามารถที่จะสเก็ตช์ภาพ ณ ตำแหน่งและเวลานั้นได้จริงๆ เราก็สามารถถ่ายรูปเก็บไว้และเลือกที่จะสเก็ตช์ถ่ายทอดในมุมมองของเราได้เมื่อเราสะดวกครับ

  4. แสดงงาน

    how to sketch-9
    โห ใช้คำเหมือนกับว่าเราต้องไปเช่าอาร์ตแกลเลอรี่แล้วเอางานเราแขวนฝาผนังอย่างไงอย่างนั้นแหละ การแสดงงานในความหมายของผมคือการเอางานไปอวดชาวบ้านครับ ไปเลยครับ! วิ่งออกไปนอกบ้านแล้วนำภาพในสมุดสเก็ตช์ของเราไปอวดเพื่อน อวดพ่อแม่พี่น้อง อวดยัยแฟนก็ได้ แล้วก็ถามว่าสวยมั้ย? คิดเห็นว่ายังไงบ้าง? แล้วนำเอาคำติชมคำวิจารณ์นั้นมาปรับปรุงงานของเราให้ดียิ่งขึ้นครับ หรือเราอาจจะอธิบายงานให้เขาฟังถึงแนวคิดเราด้วยก็ได้ครับ ถือเป็นการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดที่น่าสนใจทีเดียวครับ

    นอกจากจะเอาสมุดตัวเป็นๆ ของเราไปอวดคนอื่นแล้ว เราอาจจะสแกนภาพสเก็ตช์ของเราหรือจะถ่ายรูปเอาก็ได้ อัพบนเว็บบนโซเชียลเน็ตเวิร์คต่างๆ เพื่อให้คนอื่นได้เห็นผลงานของเรากันครับทางนี้เป็นวิธีที่สะดวกและเข้าถึงกลุ่มคนได้หลากหลายได้โดยง่ายครับ

    อ้อ! ที่ขาดไม่ได้คือเว็บ Sketchland Yard #พื้นที่โฆษณา เว็บรวบรวมภาพสเก็ตช์สวยๆ งามๆ ของสเก็ตช์เชอร์ชาวไทย คนเข้าชมเยอะทีเดียวครับ หากใครสนใจสามารถส่งสเก็ตช์มาได้เลยนะครับ

คำแนะนำจากสเก็ตช์เชอร์

นอกจากที่ผมเล่าให้คุณผู้อ่านได้ทราบถึงการสเก็ตช์แล้ว ผมยังมีคำแนะนำจากสเก็ตช์เชอร์ที่ลงผลงานสวยๆ ไว้บนเว็บ Sketchland Yard มาฝากด้วยครับ

Worawit Phithaphonrat (Bigwore)
  1. พกสมุดบันทึก+ปากกา หรือดินสอ ติดตัวไปทุกที่ เจออะไร ก็วาด สเก็ตช์ภาพเก็บเอาไว้
  2. ดูงานของสเก็ตช์เชอร์ท่านอื่นๆ หาแรงบันดาลใจ
  3. หมั่นฝึกฝนอยู่สม่ำเสมอ
Phakphum Mariepitak (@mariepitak)
ผมชอบวาดรูปเล่นมาตั้งแต่เด็กแล้วครับแต่ไม่เคยคิดจะเอาออกมาให้ใครดูเพราะเหตุผลเดียวคือ…มันไม่ค่อยจะเหมือนแบบ…จนวันหนึ่งมีโอกาสได้เรียนกับคุณครูศิลปะท่านหนึ่ง อ.ดำรงค์ วงศ์อุปราช ท่านบอกผมว่า “…วาดแค่คล้ายๆ ก็พอแล้ว ถ้าอยากให้เหมือนมากๆ ให้เอากล้องมาถ่ายเอา…เสน่ห์ของรูปวาดมันอยู่ตรงที่ไม่ต้องเหมือนเป๊ะๆ นี่แหละ…” อีกเรื่องที่อยากบอกกับเพื่อนๆ ที่อยากวาดรูปแต่ไม่รู้จะเริ่มยังไง…คือ อย่ากลัวที่จะวาดเพราะไม่มีอาจารย์มาคอยให้คะแนนเรา และอย่ายึดติดกับอุปกรณ์ครับ…มีอะไรในมือก็วาดไป…วาดบ่อยๆ…ไม่ต้องใช้ของแพงมากๆก็ได้ครับ ดินสอ ปากกา กระดาษอะไรก็ได้…มนุษย์ถ้ำใช้แค่นิ้วมือจุ่มในสีฝุ่นป้ายบนผนังยังสร้างงานศิลปะได้เลยครับ…ที่เหลือคือใจล้วนๆ…พร้อมแล้ว..ลุยเลยครับ….
Wisit Kunarittipol (P’Pooh)

หลายๆ ท่านคงได้แนะเคล็ดวิชากันไปบ้างแล้ว ผมขอเพิ่มในส่วนความหมายของมันดังนี้ครับบางครั้งเมื่อเรามีอะไรอยากสื่อสาร อยากบอก อยากเล่า อยากบันทึกอะไรที่มันมากกว่าแค่คำบรรยายเหตุการณ์หรือรูปถ่ายให้จดจำ

มันก็จะเอ่อล้นจนถ่ายทอดมันผ่านช่องทางภาษาที่เรียกว่าศิลปะตามแต่ความถนัดของใคร ไม่ว่าจะเป็นดนตรี กวี นาฏศิลป์ หรือจิตรกรรม

การวาดรูปจึงเป็นเสมือนสื่ออย่างหนึ่งซึ่งผู้วาดใช้ในการบอกความเอ่อท้นที่เรารู้สึกต่ออะไรบางอย่าง จนพรรณาสื่อสารผ่านภาษาของลายเส้นและสีสันออกไป

เมื่อเราเรียนภาษาต่างประเทศ เรารู้กันดีว่ายิ่งหัดพูดหัดฟังมากเท่าไหร่ เราจะยิ่งใช้มันสื่อสารได้ชัดเจนลึกซึ้ง บรรยายอะไรได้ดังใจขึ้นเท่านั้น

ภาษาที่เรียกว่าศิลปะก็เช่นกัน ยิ่งหัดถ่ายทอด หัดเรียนรู้ดูงาน ทำตามฝึกฝน ก็จะยิ่งสามารถสื่อสารผ่านภาษานี้ได้ดีเช่นกันครับ

สุดท้ายนี้เช่นเดียวกับคนที่เรียนภาษาแล้วประสบความสำเร็จทั้งหลาย อย่าลืมว่าต้องเรียนและฝึกฝนอย่างสนุกสนานจึงจะพัฒนาไปอย่างไม่หยุดนิ่งครับ ;D

Pongdach Chaikitmongkol (ART+DEJ)
  1. แรงบันดาลใจ
    จริงๆ จุดเริ่มต้นของการสเก็ตช์ของผมเป็นการผ่อนคลาย เพราะงานที่ทำค่อนข้างน่าเบื่อเลย อยากทำอะไรที่ดูสนุกขึ้น อีกทางหนึ่งก็เป็นการบันทึกเรื่องราวในแบบตนเอง
  2. ค้นหาแนวที่ใช่
    การสเกต มีหลายแบบ ดินสอ ปากกา สีน้ำ เลือกตามสะดวกที่สถานการณ์เอื้ออำนวย ของผมเริ่มจากสีน้ำ เพราะความอยากทดลอง และชอบมากกว่างานสเก็ตช์แบบถึกๆ วิธีฝึกฝนก็ไม่ยาก เปิด Youtube ระบายตาม เพื่อขัดเกลาฝีมือ ช่วยค้นหาสไตล์ตัวเอง
  3. ทำตามใจ สไตล์ตนเอง
    ขอแนะนำว่า การสเก็ตช์ ไม่ใช่การถ่ายรูป ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องเหมือน
    ผมมักตัดบทเพื่อนว่า ถ้าจะเอาเหมือนก็ถ่ายรูปเหอะ
  4. Share
    วาดเสร็จก็อย่าลืมอวดครับ เพื่อนจะได้มีเรื่องคุยกับเราบ้าง แล้วอาจจะมีเพื่อนมาสเก็ตช์เพิ่มด้วยครับ
Nantasorn Sornkumrone (แมวหมุนส์)
สำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นหรือรักในการสเก็ตช์ภาพนั้น ข้อแนะนำคงไม่มีอะไรมากเพียงแต่ให้ตั้งใจขยันวาดรูปในทุกๆ วัน ไม่จำเป็นต้องเป็นภาพใหญ่เพราะมันจะทำให้รู้สึกท้อได้ง่ายๆ ลองวาดภาพขนาดโปสการ์ดดู แล้วจะรู้สึกสนุกกับการวาดภาพสิ่งรอบๆ ตัวค่ะ

ขอขอบพระคุณสเก็ตช์เชอร์ทุกท่านสำหรับคำแนะนำอันมีค่ายิ่งครับ เห็นไหมครับว่าทุกท่านล้วนแล้วแต่เน้นเรื่องการฝึกฝนเป็นสำคัญครับ หมั่นฝึกฝนอยู่เสมอ วาดภาพทุกครั้งเมื่อมีโอกาส นี่แหละครับคือข้อสำคัญของการเริ่มต้นสเก็ตช์ครับ

เป็นอย่างไรบ้างครับกับบล็อกตอนนี้ ถูกใจคุณผู้อ่านกันบ้างหรือเปล่า? ใครที่สนใจอยากเริ่มต้นสเก็ตช์ภาพเพื่อบันทึกเรื่องราวและสิ่งที่ได้พบเห็นในชีวิตประจำวันคงจะได้คำตอบแล้วใช่ไหมครับว่าควรจะเริ่มต้นจากตรงไหนดี การสเก็ตช์ไม่ใช่เรื่องยากเลยครับขอเพียงแต่มีความชื่นชอบและหมั่นสเก็ตช์อยู่เสมอ เรื่องภาพสวยหรือไม่สวยนั้นขอให้ลืมไปได้เลยครับเพราะมันไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ขอแค่เพียงว่าตัวเราเองพึงพอใจในผลงานของเรานั่นก็ถือว่าบรรลุเป้าหมายของการสเก็ตช์แล้วล่ะครับ

ปล. หากมีคำถามเพิ่มเติมหรือสนใจอยากแลกเปลี่ยนประสบการณ์การสเก็ตช์ก็ขอเชิญที่เพจได้เลยนะครับ : B.B.Blog Sketchblog Facebook Page

หากอ่านแล้วถูกใจชอบใจ ฝากกดแชร์ด้วยนะครับ ขอบคุณครับ \( - 3-)/
โพสตอนนี้อยู่ในหมวด FAQs และมี tag ดังนี้ , , , , , , , โพสเมื่อวันที่ .
hackhq

คนธรรมดาที่หลงใหลในการสเก็ตช์ ใช้ปากกาลามี่เป็นอาวุธ มีสมุด Moleskine เป็นผืนผ้าใบและมีจินตนาการในรูปของสีน้ำ หลงใหลรูป รส กลิ่น ของกาแฟ และเคลิบเคลิ้มกับเสียงของดนตรีแจ๊ส | ติดต่อผมบนทวิตเตอร์ได้ที่ @hackhq

เว็บไซต์ : https://www.bbblogr.com