สาวไส้! ลึกถึงแก่นไส้ดินสอ มารู้จักกับไส้ดินสอให้มากขึ้นกันเถอะ!

in Pencil, ชวนชม by darindesign on 24 Aug 2015

จากบทความก่อนหน้านี้ที่ตาปอนด์ได้รีวิว ดินสอสเก็ตซ์สุดคูล! ไปนั้น เล่นเอาปอยรู้สึกคันไม้คันมืออยากเขียนบทความเกี่ยวกับไส้ดินสอขึ้นมาเลยทีเดียว เพราะต่อให้มีดินสอสุดเท่เก๋ไก๋ยังไง ถ้าเลือกไส้ดินสอไม่เป็น ดินสอราคาหลักร้อย อาจได้งานที่มีคุณภาพไม่ต่างอะไรกับที่เราใช้ดินสอ 10 บาทก็ได้ (แล้วจะลงทุนซื้อแพงเพื่อ?) ฉะนั้นอย่ามองข้าม! รีบสาวไส้(ดินสอ)มาดูกันค่ะ

อันว่าไส้ดินสอนั้น เค้ามีรายละเอี๊ยดละเอียดอยู่ในเว็บ https://en.wikipedia.org/wiki/Pencil แล้วนะคะ ก็อย่างที่ปอยเคยบอกอยู่เป็นประจำ ถ้าเพื่อนๆ อยากรู้เพิ่มเติมก็คลิกไปอ่านได้เลยจ่ะ (และก็เหมือนจะรู้ เพื่อนๆ ยังไม่คลิก เพราะจะรอปอยสรุปย่อๆ อีกทีช่ะป่ะ 55)

pencils

ไส้ดินสอที่เราเห็นส่วนใหญ่ทำจากแกรไฟต์ค่ะ แม้ว่าการรู้ประวัติของไส้ดินสอว่าถูกค้นพอเมื่อไร ใครเป็นคนเริ่มขุดออกมาจากก้อนแร่นั้น อาจจะทำให้เราซาบซึ้งน้ำตาไหล ถึงบุญคุณคนที่ค้นพบต้นกำเนิดดินสอให้เรามีใช้ในทุกวันนี้ก็ตาม แต่ชวนชมวันนี้เราจะมาจับเข่าคุยถึงไส้ดินสอในแบบที่จะเอาไปใช้ประโยชน์กันค่ะ ซึ่งจะข้ามเรื่องที่มีการค้นพบแกรไฟต์จำนวนมากที่ประเทศอังกฤษ ในช่วงปี ค.ศ. 1565 ไป (นี่แกข้ามแล้วเรอะ!) เจ้าแร่แกรไฟต์นี่ล่ะ เป็นส่วนประกอบสำคัญในไส้ดินสอที่เราใช้ขีดเขียนกันอยู่ จะเรียกว่าเป็นพระเอกเลยก็ว่าได้ค่ะ

042-04

แร่แกรไฟต์ก้อนดำๆ ที่ขุดมาจากเหมืองนี่ล่ะ จับเป็นก้อนวาดภาพเลยคงเหมือนมนุษย์ถ้ำดีนะ ^ ^

ทำไมต้องเป็นแกรไฟต์?

ก็เพราะคุณสมบัติอ่อนนุ่มเอามาทำเป็นแท่งได้ ดำดีสีไม่ตก ศิลปินต่างๆ ใช้ดีบอกต่อกันแพร่หลายกระจายเป็นวงกว้าง แกรไฟต์จึงเป็นแร่ที่นิยมเอามาใช้ทำไส้ดินสอกันค่ะ แต่แกรไฟต์อย่างเดียวมันอ่อนตัวเกินไปแถมหักง่ายซะเหลือเกิ้น เค้าจึงเอาผงแกรไฟต์มาผสมกับผงดิน (clay powder) เพื่อให้ไส้ดินสอแข็งแรงมากขึ้น แต่ก็มีผลให้สีดำอ่อนลงด้วย ดังนั้นโรงงานผลิตไส้ดินสอจึงใช้สัดส่วนของแกรไฟต์กับผงดินในปริมาณที่แตกต่างกัน ทำให้ได้ไส้ดินสอ ดำเข้ม แข็งอ่อน ไว้ใช้ในงานที่หลากหลายจุดประสงค์กันค่ะ (พิมพ์ยาวพักหายใจแป๊บ)

042-05

ผงแกรไฟต์แสนละเอียดนี้ล่ะค่ะ ที่จะเอาไปผสมกับผงดินและน้ำ เพื่ออัดเป็นแท่ง แล้วเอาไปเผาให้แข็งแรง กลายเป็นไส้ดินสอสำหรับมือขีดเขียนอย่างพวกเรา

เส้นทางกว่าจะกลายเป็นไส้ดินสอ เริ่มจากเอาผงแกรไฟต์มาผสมผงดินและน้ำ อัดแท่งแล้วเอาไปรีดให้เป็นเส้นเหมือนสปาเก็ตตี้หมึกดำเลย จากนั้นก็ตัดเป็นแท่งๆ แล้วอบแห้งและเผาไฟที่ความร้อนสูง ตอนนี้ก็จะได้แท่งไส้ดินสอสีดำมาแล้ว และเพื่อให้เขียนสมูทลื่นปรี๊ด เค้าก็จะเอาแท่งไส้ดินสอไปจุ่มในน้ำมันหรือขี้ผึ้งค่ะ เท่านี้เป็นอันเสร็จ ถ้าจะเอาไปทำดินสอไม้ทำเองอย่าง Twig Pencil เพื่อนๆ ก็ออกไปหากิ่งไม้ได้เล้ย!

หลักการเลือกไส้ดินไปใช้ แบ่งได้ตาม ความเข้ม และขนาด ค่ะ ลองดูรายละเอียดกันค่ะ

1.เลือกไส้ดินสอตามความเข้ม

042-01

คนยุโรปเค้าคิดวิธีแบ่งเกรดไส้ดินสอออกมาให้เรียกใช้กันง่ายๆ ค่ะ ระบบนี้ใช้ตัวอักษร H แทน ความแข็ง (hardness) , B แทน ความดำ (blackness) ส่วน F จะใช้แบ่งเกรดระหว่าง H กับ HB ประมาณว่า fine คือใช้ดี ไม่แข็งไม่อ่อนเกินไปนั่นล่ะมั้งนะ ถ้ามีดินสอหนึ่งแท่งแต่ไม่รู้ว่าไส้ดินสอเป็นเกรดไหน ก็แค่ลองฝนด้วยมุม 45 องศา แล้วเอาไปเทียบกับผังเทียบสี ได้สีใกล้เคียงในผังเทียบสียังไง ไส้ดินสอก็น่าจะเป็นเกรดนั้นล่ะค่ะ (ใช้ประมาณได้คร่าวๆ นะ บางทีก็ดูยากจัง ความดำมันใกล้ๆ กันอ่ะ)

แล้วไส้แบบ EE ที่เราคุ้นตาและใช้กันบ่อยๆ หรือจะเป็นไส้แบบ EB ล่ะทำไมไม่เห็นมีพูดถึงเลย ไม่ต้องงงไปน้า เพราะว่าจริงๆ แล้วไส้ดินสอเบอร์ EE นั้นเป็นรูปแบบเดิมที่ตอนนี้ไม่ค่อยใช้กันแล้ว แต่ยังมีบางบริษัทผลิตไส้ EE ติดฉลากดินสออยู่ ไส้ EE เทียบได้กับ 8B ค่ะ ถ้าเคยเห็น EB ด้วยล่ะก็ EB เทียบได้กับ 7B นั่นเองจ้า

1.) สีดำอ่อน ถ้าบนฉลากของไส้ดินสอที่มี มี H เยอะๆ จะเป็นยังไง (ดูแผนผังข้างบนประกอบไปด้วยเลยนะคะ) ถ้า H เยอะ ไส้ดินสอจะมีความแข็งแรงมากเพราะมีส่วนผสมของผงดินเยอะ เวลาเขียนจะมีสีอ่อนลง ข้อดีคือไม่หักง่าย นิยมใช้ในการร่างภาพที่ไม่ต้องการให้เห็นเส้นดินสอชัดเจนนักค่ะ

2.) สีดำกลาง ดินสอที่เราใช้เขียนส่วนใหญ่จะอยู่ในเกรด HB ค่ะ เวลาเขียนไม่หักง่ายเกินไป (ซึ่งก็หักอยู่บ้างแหละนะถ้ามือหนัก) ความดำชัดพอดีอ่านออกได้ไม่ต้องเพ่ง บางคนก็ชอบดำๆ ชัดๆ เลยใช้เกรด 2B มาเขียน ชัดจริงไรจริงค่ะ แต่ถ้าไส้ดินสอยิ่งดำเวลาลบอาจจะมีรอยจางๆ บนสมุดบ้างก็ดูไม่ค่อยสะอาดตาเท่าไรนะ

3.) สีดำเข้ม สำหรับไส้ดินสอ B เยอะๆ ดำได้ใจมั่กค่ะ เพราะมีส่วนผสมของแกรไฟต์มากแต่ไส้ดินสอจะหักง่ายนะ ส่วนใหญ่จึงทำออกมาเป็นแท่งหรือเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่ๆ เอามาใช้ในงานแรเงาได้เยี่ยมเลย042-02

นอกจากวิธีแบ่งเกรดแบบระบบข้างต้นแล้ว ยังมีอีกระบบที่คิดโดย Conté แล้วเอามาปรับทีหลังโดยชาวอเมริกัน John Thoreau ช่วงศตวรรษที่ 19 นี้เอง ระบบนี้จะใช้ตัวเลขเทียบความเข้มได้จากตารางค่ะ ซึ่งไส้ดินสอเกรดเดียวกัน แต่ผลิตจากโรงงานคนละแห่ง ก็อาจจะมีความแข็งและความดำไม่เหมือนกันนะคะ

2. เลือกไส้ดินสอจากขนาด

สำหรับขนาดของไส้ดินสอที่เป็นมาตรฐาน ISO มีขนาดตั้งแต่ 2.00 mm, 1.40 mm, 1.00 mm, 0.70 mm, 0.50 mm, 0.35 mm, 0.25 mm, 0.18 mm, and 0.13 mm  อาจจะมีขนาดที่ทำมาใหญ่กว่านี้ (ซึ่งต้องเหลา เพราะเขียนไปมันก็จะทู่สิจ๊ะ) และขนาดที่ไม่ได้เป็นขนาดมาตรฐาน ISO ซึ่งจะใช้ขนาดเท่าไรขึ้นอยู่กับดินสอค่ะ ส่วนใหญ่ก็เอาไปกับดินสอกด (ดินสอกดก็มีหลายแบบ ไว้คราวหน้าจะมาเล่าให้เพื่อนๆ เรื่องดินสอกดอีกทีนะคะ)

แหม..ช่างมีไส้ดินสอให้เลือกมากมายก่ายหน้าผากซะจริง จะใช้ดินสอไม้หรือดินสอกดก็น่าสนุกทั้งนั้นเลยไช่ป่าว คราวนี้เพื่อนๆ คงพอจะรู้จักไส้ดินสอที่ใช้กันอยู่บ้างแล้วนะจ๊ะ ต่อไปนี้ปอยก็มั่นใจได้ว่าชาว bbblogr.com เลือกไส้ได้ไม่มีพลาดอยู่แล้นนน..น..

 

ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก :

หากอ่านแล้วถูกใจชอบใจ ฝากกดแชร์ด้วยนะครับ ขอบคุณครับ \( - 3-)/
โพสตอนนี้อยู่ในหมวด Pencil, ชวนชม และมี tag ดังนี้ , , , , โพสเมื่อวันที่ .
darindesign

ผู้หญิงอารมณ์ดีที่ไม่ต้องแปลงเพศ เพ้อเจ้อบ้าง สาระบ้าง ชอบอ่าน ชอบฟัง ทำหลายอย่างจนคิดว่าวันละ 24 ชั่วโมงมันน้อยไป แต่ก็ยังมีเวลาสนุกกับชีวิตและดื่มด่ำสิ่งสวยงามรอบตัวเสมอ