How to Draw #5 : ลงสีท้องฟ้าและสร้างบรรยากาศ

in How to Draw by kia on 11 Dec 2015

สวัสดีค่ะ นุ้งเคียอิสแบ็คคคค!! *ปรากฏกายพร้อมเสียงเอฟเฟคต์ปรบมือแบบเพาเวอร์พอยท์*

ยินดีต้อนรับขับสู้ สู่คอลัมน์ How to Draw ตอนที่ 5 ค่ะ ….เอ๊ะ เขียนเดือนละตอน นี่ 5 ตอนเข้าไปแล้วเหรอเนี่ย

ที่จริงตอนที่ 4 กับ 5 ทำในช่วงเวลาที่ใกล้กับตอนที่ 3 มากเลยล่ะค่ะ นี่แอบแปะสปอยล์รูปท้องฟ้าลงเฟสหลักไปบ้างช่วงที่เพิ่งวาดเสร็จใหม่ๆ แต่เนื่องจากบล็อกนี้ยุ่งมาก บทความคุณภาพล้นทะลัก พี่ปอนด์ก็รวยมาก ขยันสอยของมารีวิวทำร้ายไตน้องได้ไม่เว้นว่าง แถมยังขยันจีบนักเขียนมาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อี๊กกก  โพสคอลัมน์ของเราจึงซอยแยกอย่างค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป เรื่อยๆ ไม่ต้องรีบนะจ๊ะ


howtodraw-sky-cover

ระหว่างที่โพสใหม่ยังไม่มา นุ้งเคียขอร้องคุณผู้อ่านได้ไหมคะ ♥

อย่าลืมกลับไปอ่านตอนเก่าๆ ของคอลัมน์ของเราแล้วทำการบ้านกันบ้างนะ เพราะบทความของเราจะเพิ่มความแอดวานซ์ขึ้นเรื่อยๆ ถ้าอ่านผ่านอย่างเดียว เกรงว่าจะผิดวัตถุประสงค์  (มาอธิบายวัตถุประสงค์เอาตอนที่ 5 นี่เธอจะบ้าหรือ…)

บทความของเรา ไม่ใช่ บทความโชว์สกิล โชว์ขั้นตอนอู้หูอ้าหา อลัง ไม่มีค่ะ บอกเลย 

ความรู้อัดแน่นแบบที่สรุปจากหนังสือเพื่อให้คุณจำได้? ไม่มีทั้งนั้น

มัน simple กว่านั้นมาก มากกกก คือแค่อยากให้คนที่ลังเลที่จะวาดสีน้ำ ได้มาลองหัดวาดด้วยกัน เราเป็นแค่คนไกด์เท่าที่จะไกด์ได้ เหมือนเป็นเพื่อนคนหนึ่งที่ชวนเพื่อนอีกคนมาละเลงสี เท่านั้นเองค่ะ


05

สมเคีย เธอพูดอะไรยาวๆ ไปข้างบน เข้าเรื่องไหม? วันนี้เรามาเพ้นท์อะไรกัน?

อะฮ้า วันนี้นุ้งเคียเล่นใหญ่ มีแขกรับเชิญมาด้วยแน่ะคุณ!

และคนคนนั้นก็คือ…..

miimork

…..

….รู้จักกันอยู่แล้วสิ! แน่ะ อึ้งล่ะสิ!!!

น้องหมีหมอก (MiiMork) ค่ะ!!

 

และหัวข้อของการเพ้นท์วันนี้ก็คือ ท้องฟ้า นั่นเองค่ะ ♥

06

อุปกรณ์ในครั้งนี้

  • จานสีที่มีที่ว่างผสมสีได้เยอะๆ
  • สีน้ำโทนที่ชอบ
  • กระดาษสีน้ำแบบที่สามารถรองรับเปียกบนเปียกได้ดี (ในที่นี้คือ Arches ผิวกึ่งหยาบ)
  • พู่กันเบอร์ใหญ่อุ้มน้ำได้ดี
  • พู่กันเบอร์เล็กไว้ลงรายละเอียด
  • ทิชชู่
  • กระป๋องใส่น้ำ
  • สีอะคริลิค /โปสเตอร์สีขาว

 

22

คุยเฟื่องเรื่องท้องฟ้า

ฮาวทูเรื่องลงสีท้องฟ้า  มีให้เห็นเกลื่อนกลาดใน Youtube เสิร์ชเลยค่ะ Watercolor Sky Painting Tutorial บลาๆ…

แน่นอนว่าดูแบบนั้นย่อมเห็นภาพกว่า เพราะเราต้องดู stroke พู่กันที่ตวัดให้เห็น จะเข้าใจง่ายกว่าแบบภาพถ่าย ยิ่งเป็นเปียกบนเปียกยิ่งแล้วใหญ่

เพราะงั้นเราจะขอข้ามมันมาอีกคำถามในทันที …

 

“ท้องฟ้ามีสีอะไร?”

ฟังดูกวีวิจิตรศิลป์มาก

ไม่ ท้องฟ้าไม่มีสี ที่เห็นจริงๆ เป็นสีของแสงที่ทำมุมกับพระอาทิตย์

ท้องฟ้าปกติของไทยจะสีหม่นเมื่อมีเมฆ ถ้าแจ่มใสก็จะเป็นแฟลร์ขาวสว่างไปเลย

แต่ถ้าเราย้ายไปฝรั่งเศสตอนใต้ ก็จะได้สัมผัสกับท้องฟ้าแสงสีนวล เหลืองอุ่นๆ ช่วยเสริมบรรยากาศของปราสาทชาโตว์ให้ดูมีมนต์ขลังเหมือนภาพแฟนตาซี

ญี่ปุ่นมีแสงสีขาว ให้ฟีลร้านขายของแนว Zakka บางพื้นที่ท้องฟ้าจะเป็นสีฟ้าสด เมฆเป็นริ้วๆ แบบฤดูร้อน

เวลาอยู่ต่างประเทศเองก็จะเห็นท้องฟ้าที่สีไม่เหมือนไทย แต่ละพื้นที่จะมีสีของท้องฟ้าเป็นของตัวเอง แต่ละช่วงเวลาก็จะมีสีของท้องฟ้าเป็นของตัวเอง

และท้องฟ้าในช่วงเวลานั้นๆ ก็คือบรรยากาศของภาพ

 

“ท้องฟ้าคือบรรยากาศของภาพ”

1012672_793269770712337_8031412711864007214_n

เราชอบวาดฉากเอาท์ดอร์ค่ะ บางภาพที่มีรายละเอียดมากๆ เราก็จะไม่ลงสีท้องฟ้าเท่าไหร่

แต่ภาพที่มีคอนเสปต์ มีมู้ด ที่ ต้องการสร้างอารมณ์ร่วม อย่างเช่นรูปข้างบน ท้องฟ้าจะแทนด้วยสีของแสงที่กำหนดบรรยากาศโดยรวมของภาพทันที ทำให้คนเที่เห็นรู้สึกคล้อยตามว่ากำลังอยู่ในช่วงเวลาพระอาทิตย์ตกดินไปด้วยกัน

 

11698674_920969444609035_1150929145166527580_n

อย่างเช่นภาพนี้ สีพื้นของเรากำหนดสีโดยกำหนดทิศทางแสงและเงา ระบายทับไปทั้งภาพ ทับตัวละครไปด้วยเลย เสมือนว่าตัวละครได้รับการอาบแสงของยามเย็นไปด้วย

ถ้าไม่คำนึงถึงเรื่องนี้ แล้วลงแต่ท้องฟ้า ภาพจะดูค่อนข้างแข็ง ไร้ชีวิต ไม่คล้อยตามค่ะ

sky-gradient

ไล่สีท้องฟ้าให้เข้มขึ้นแล้วอย่าลืมลงเงาภาพด้วย ไม่ควรใช้ สีดำ ในภาพที่ควบคุมแสงมาดีแล้ว หลีกเลี่ยงไปใช้สีเข้มที่กลมกลืนกับภาพดีกว่า ในที่นี้คือสีม่วง/สีน้ำเงิน

ส่วนที่เป็นน้ำ จะสะท้อนเงาของฟ้าค่ะ สีที่ลงทะเลก็จะคุมด้วยโทนเดียวกัน ไม่ระบายเป็นสีเขียวน้ำทะเลแบบทั่วไป

 

 

สำหรับโพสต์นี้ เราไปถึงบ้านของน้องหมอกเพื่อขอให้เธอช่วยลงสีท้องฟ้าที่ดูมีมิติให้ เราบอกน้องหมอกว่า “ท้องฟ้าของฉันฉาบ Flat Wash ทุกรูปเลยแก…” 

น้องเลยชวนมาลงด้วยกัน และบังเกิดเป็นบทความนี้ขึ้นมาค่ะ 5555

 

ผู้อ่านที่น่ารัก เรามักจะพูดอยู่เสมอว่า การลงสีน้ำน่ะ มันไม่มีสีที่เป๊ะๆ เป็นโค้ดสีมาหรอก ว่าอยากลงอันนี้ควรจะใช้สีนี้เท่านั้น ทุกอย่างจึงขึ้นอยู่กับการสังเกต

ดวงตาของนักวาด รับรู้แสงที่ต่างกัน  –จริงค่ะ …เมื่อเราวาดภาพจาก “สิ่งที่เราเห็น” เราจะสร้าง palette สีขึ้นมาเองในสมองของเรา

เพราะงั้นมันจะไม่มีบทเรียนที่ว่า “ดูนี่ ป้ายตรงนี้ด้วย Cerulean Blue แล้วกลบด้วย Azure นะคะ ถ้านักเรียนไม่ทำตาม มันจะออกมาไม่สวยนะคะ !”  อะไรแบบนี้ ทั้งหมดเกิดจากการลงตามจินตนาการของสีในสมองของเราเอง

 

ขอพิสูจน์ให้คุณผู้อ่านเห็นด้วยตัวอย่างแรกเลยค่ะ

นุ้งเคียกับน้องหมอก ตัดกระดาษเป็นชิ้นเท่าๆ กัน วาดท้องฟ้าจากภาพเดียวกันเป๊ะ …. และผลที่ออกมาจะทำให้คุณต้องทึ่ง!!!! 


Summer Blue Sky ท้องฟ้าสีฟ้า

03

นี่คือท้องฟ้าสีฟ้าที่มีริ้วก้อนเมฆค่ะ  (เครดิตภาพ http://blog.livedoor.jp/)

ถ้าเราถามคุณผู้อ่านที่น่ารัก คุณเห็นสีอะไร?

ฟ้าสด แน่ล่ะ

ฟ้าอ่อน? ฟ้าใส แล้วต่อด้วยริ้วเมฆสีขาว….?

ขาวเหรอ ไม่สิ เมฆนั่นสีฟ้าผสมเทาไม่ใช่เรอะ?!!

….อ้าว ขนาดตัวคนเดียวยังตีกันเองขนาดนี้ ไหนดูซินุ้งเคียเห็นเป็นสีอะไร

Kia’s Summer Blue Sky (15 นาที ไม่รวมผึ่งแห้ง)

ภาพประกอบจากกล้องสายตาของนุ้งเคีย (เว่อร์สิ้นดี)

10
11

 

บางทีที่เราคิดว่าที่เราลงไปมันจะออกมาเป็นริ้วเมฆ

พอสีมันแห้ง มันก็ทรยศเรา หลอมรวมเป็นเวิ้งน้ำไปเสียสิ้น /ร้องไห้

12

เมื่อทำไปจนครบแล้ว ….

ก็ออกมาเป็น ………

ท้องฟ้าสีฟ้าของฤดูร้———–


13

  ทำไมมันเหมือนท้องฟ้าฤดูฝนขนาดนี้? ชะนี ตอบ!!!!

เพราะ Palette สีฟ้าสำหรับนุ้งเคียเป็นโทนหม่นค่ะ ลงยังไงก็หม่น เหมือนเป็นอาถรรพณ์ของชีวิต ชอบป้ายสีเข้มๆ ลงไป ถ้าไม่ป้ายจะอยู่ไม่ได้

ถามว่าแคร์มั้ย? ไม่….  เราไปดูหมีหมอกกันต่อดีกว่า

Miimork’s Summer Blue Sky (15 นาที ไม่รวมผึ่งแห้ง)

07 08 09

อืม… ออกมาช่าง…


14

ใสกิ๊ง ไร้สิ่งรบกวน และดูเป็นธรรมชาติมากๆ

นี่เธอวาดท้องฟ้าประเทศเดียวกันใช่ไหม? ตอบ!!

งานของหมีหมอก ถ้าดูจากในเพจแล้วจะเห็นได้ทันทีว่าเป็นงานที่คอนทราสกับนุ้งเคียค่ะ สีของนางจะลงอย่างอ่อนละมุนมากๆ นุ่มนิ่มน่ากิน ไม่ค่อยเอาสีตัดขั้วมากัดเจ็บๆ เน้นความเป็น harmony อย่างน่ารัก เมฆน้อยน่ากินมากๆ

/อวย อวย

อย่าให้ขาดช่วงเลยค่ะ ภาพต่อไปเลยละกัน


Dawn รุ่งสาง

02

(เครดิตภาพ http://erago77.deviantart.com/art/sun-dawn-at-the-beach-210012863 )

Kia’s Dawn (20 นาที ไม่รวมผึ่งแห้ง)

ภาพนี้ ดูยังไงก็สีส้มชัดๆ แต่ตอนวาดมันไม่ได้รู้สึกยังงั้นน่ะสิ…

ข้างบนฟ้า ตรงกลางส้ม

แล้วสีของน้ำ ก็สะท้อนสีของท้องฟ้า ง่ายนิดเดียว

19

เริ่มจาก Wet on wet เหมือนเคย เสร็จแล้วก็รอแห้ง

มือไม่เที่ยง บางรูปก็จาง บางรูปก็เข้มซะ ภาพนี้เราว่าเราลงสีอ่อนค่ะ เพราะมันมี Foreground  (ระยะหน้า) สีดำมาตัดอารมณ์

20

ถึงตรงนี้รู้สึกอยากลงพระอาทิตย์ให้เห็นชัดๆ หน่อย เลยถมสีส้มลงไป ทั้งบนบกและในน้ำ

21

คล้ายกับภาพต้นแบบไหม? ….ก็ไม่นะ กร๊ากกก

เราจะมารู้ตัวว่าไม่คล้ายก็ตอนลงเสร็จไปแล้วนั่นแหละ

ต่อไปเป็นงานน้องหมอกค่ะ

Miimork’s Dawn (25 นาที ไม่รวมผึ่งแห้ง)

15

ทีแรกนางลงเท่านี้ ก็นึกว่าภาพนี้จะออกมาโทนคล้ายของเราแล้วเชียว

ที่ไหนได้ … ถมอีกยาว

16

วิธีที่น้องหมอกใช้ ค่อนข้างเฉพาะตัวมาก และสีที่เลือกมา ถ้าไม่ชำนาญในคู่สีนี้ ก็จะช้ำได้ง่าย

เช่น ฟ้าเขียวช่องบน  กับม่วงส่วนขอบฟ้าช่องที่ 3

ตอนลงดูน่ากลัวมากค่ะ นุ้งเคียถ่ายไปลุ้นไปว่าแห้งแล้วนางจะเน่าไหมฟะ…..

แต่ผลที่ออกมาดันสวยสุดๆ ไปเลยนี่สิ

17

เทคนิคใช้ทิชชู่ซับนี่เราไม่เคยใช้เลยค่ะ เพิ่งมาเห็นจากน้องเขาว่ามันเวิร์คนี่แหละ

เติม Foreground ต่อให้รู้สึกกลมกลืน มีเข้มมีอ่อน

18

ออกมาเป็นท้องฟ้าจิบลิที่ยากจะเลียนแบบ

#สาบานว่าวาดจากรูปเดียวกัน 5555555

คุณผู้อ่านลองสังเกต Foreground ของหมีหมอกดูนะคะ เธอไม่ใช้สีดำ แต่ใช้สีน้ำตาลแดงผสมน้ำเงินเพื่อให้รู้สึกคอนทราสต์กับสีโดยรวมอย่างลงตัว

คนที่ลงสีบางคนชอบใช้สีดำ ซึ่งมันตัดอารมณ์ของภาพไปเลย ฉับบบบ— ใครที่เป็นอยู่จะลองเทคนิคนี้ก็ได้นะ


Sunset พระอาทิตย์ตกน้ำ

01

(เครดิตภาพ http://photohito.com/photo/970855/ )

ท้องฟ้ายามเย็นมีคู่สีที่สวยมากๆ ของโปรดเราเลยค่ะ เราชอบคู่สีส้มกับสีม่วง เป็นสีที่ตัดการแล้วให้ฟีลลิ่งรุนแรงแบบโรแมนติก

ภาพนี้ต้องฉ่ำจัด สีเข้ม ถึงจะแสดงออกถึงช่วงเวลาได้ดีค่ะ

Kia’s Sunset (25 นาที ไม่รวมผึ่งแห้ง)

23

พอเป็นคู่สีโปรดจะลงง่ายมาก

ไม่ได้เขียนตัวหนังสือประกอบไว้ เพราะทั้งหมดนั้นคือ เปียกบนเปียก ค่ะ

  • เริ่มจากการเคลือบน้ำทับกระดาษ
  • หยดสีม่วงตรงบริเวณใหญ่ลงไป
  • ตามด้วยสีที่ตัดกันตามพื้นที่ต่างๆ กะเอาเลยค่ะ ไม่ได้ร่างไว้

24

การเพ้นท์ foreground ของภาพพระอาทิตย์ตก ระวังเรื่องการใช้สีดำนะคะ มันจะทำลายอารมณ์ภาพและทำให้ดูแข็งๆ

งานนี้เราใช้สีน้ำเงิน ให้ตัดกับสีส้ม และไม่ไปรบกวนสีม่วงค่ะ

25

เป็นภาพที่ออกมาค่อนข้างพอใจเลยค่ะ เฮเก๊ะ

Miimork’s Sunset (25 นาที ไม่รวมผึ่งแห้ง)

26

ของน้องหมอกภาพนี้ใช้คู่สีใกล้เคียงกับเราค่ะ  (ร้อยปีมีครั้ง)

แต่จะเน้นสีโทนเย็นมากกว่า ในภาพจะเห็นได้ว่าเน้นสีม่วงกับสีน้ำเงิน มากกว่าส้มเหลืองพอสมควร

foreground ของน้องหมอกจะไม่คมเป็น sharp edge แบบของเรา น้องหมอกจะคำนึงเรื่องความละมุนของภาพมากกว่า #คนละมุนกับคนหยาบเป็นเพื่อนกันได้ยังไงฟระ

27

เสร็จแล้วค่ะ ให้ฟีลฟ้าหลังฝนช่วงอาทิตย์ตกดินมากเลย


Starry Night ฟ้ากระจ่างดาว

04

(เครดิตภาพ http://www.flickr.com/photos/erichinesphotography/)

ฟ้ากระจ่างดาว เป็นภาพที่เพ้นท์ง่ายที่สุด ถ้าคุณผู้อ่านกล้าใช้สีเข้ม + มือหนักพอ

จุดสำคัญคือทางช้างเผือกในภาพ เป็นจุดเด่น ต้องพยายามทำให้สว่างโดดออกมาจากความมืด

ใครไม่เคยเพ้นท์กาแล็กซี่เลย ในยูทูปมีฮาวทูนะคะ ลองเสิร์ชดู “Watercolor painting galaxy” น่าจะเห็นภาพได้ง่ายๆ

Kia’s Starry Night (30 นาที ไม่รวมผึ่งแห้ง)

28

ก่อนอื่น ภาพนี้เราไม่ได้ลงน้ำทั้งภาพแบบภาพอื่น เราลงแค่ ส่วนที่จะเป็นสีขาวของภาพ ซึ่งก็คือทางช้างเผือก

หยดสีที่ผสมเข้มไปรอบๆ กรวย พยายามใช้สีที่ตัดกัน อย่าไปลงสีฟ้าสีเดียว

ส่วนที่อยู่ห่างจากทางช้างเผือก เน้นสีเข้มจัดๆ หน่อย
29

ต่อไป ก็รอให้แห้งก่อน

ใครที่ทำดาวไม่เป็น ให้หาพู่กัน หรือแปรงสีฟันมาจุ่มสีอะคริลิค / โปสเตอร์ (สีน้ำสีขาวใช้กับกระดาษอาร์เช่ไม่ได้ ซึมหมด) ดีดสีให้ทั่วภาพ

จุดที่อยากให้เด่นออกมาให้ใช้พู่กัน หรือปากกามิลกี้จุดเป็นวงกลมไปเรื่อยๆ

foreground รูปนี้ใช้สีดำได้เลยค่ะ ดำหรือน้ำเงิน indigo ก็ได้ เพราะมันเป็น high contrast เห็นระยะหน้าแบบย้อนแสง silhouette

30

ออกมาแล้วค่ะ #แง้ #วาดต้นไม้ไม่เหมือน 5555

Miimork’s Starry Night (35 นาที ไม่รวมผึ่งแห้ง)

 ก่อนอื่นขอแก้ตัวกับสเต็ปข้างล่างก่อน

…คือ มันเกิดขึ้นเร็วมาก 55555 คนเขียนบรรยายตามไม่ทัน

31

ของน้องหมอก จะไม่เหมือนของเราตรงที่ “ไม่เว้นขาว” เลยสักนิดเดียว

สีพื้นเป็นสีน้ำเงินเข้มทั้งภาพ แต่ลงเบาๆ พอแห้งแล้วก็จะจางไปเอง

ใช้สีเข้มสุดเป็นตัวตัดตั้งแต่กลางภาพ ระหว่างนั้นก็หยดคู่สีประหลาดๆ ลงไป …ขอบอกว่าขั้นตอนนี้เราไม่เก็ทจริงๆ (ภาพล่างซ้าย) ว่าหยดสีชมพู ส้มๆ เหลืองๆ แบบนี้มันจะออกมาสวยได้ยังไง … แต่เฮ้ย มันสวย!! พอแห้งแล้วให้ความรู้สึกลงตัวมากๆ

What kind of sorcerer is this ??!!! 

น้องหมอกใช้พู่กันดีดสีเหมือนกัน ที่ใช้เวลามากกว่าก็เพราะนางบรรจงในการจุดและสาดดาวให้ได้ขนาดต่างกันมาก งานละเอียดเป็นอย่างนี้เอง อ่าก

32

ใครที่มีเวลาหน่อยก็ลองให้เวลากับการดีดสีแบบละเอียดดูนะคะ ภาพออกมาดู real มากจริงๆ ดาวเป็นดาวเลย

น้องหมอกเขาชอบวาดต้นไม้ค่ะ ส๊วยสวย


อ่านมาจนถึงตอนนี้…

ได้สาระอะไรบ้าง จงสรุป 1 หน้า A4 ปฏิบัติ!

ได้ข้อคิดว่า คอลัมน์นี้นุ้งเคียควรเลิกแล้วไปให้หมีหมอกเขียนแทน 

/โดนพี่ปอนด์ไล่ออกจากการเป็นนักเขียน 55555

เอ้า! เค้าแค่อยากให้คุณผู้อ่านสังเกตและทดลองด้วยตัวเอง

เพราะคราวนี้ไม่ได้สอนวิธีลงอย่างละเอียดเหมือนโพสก่อนๆ คิดว่าทุกคนคงเริ่มเข้าใจกันบ้างแล้วล่ะ กับพวกเทคนิค Wet on Wet ที่หยดสีลงบนพื้นที่เปียกน้ำ

แล้วอีกอย่างคือวิธีลงแค่ของเรากับเพื่อนก็ต่างกันขนาดนี้ ลำดับขั้นตอนไม่เคยเหมือนกัน บอกเลยว่าขนาดจ้องหมีหมอกลงสี เรายังทำตามไม่ได้เลย โถ่เอ๊ยยย

sky-final-1

ลองเอาภาพมาเทียบกันดูค่ะ

sky-final-2

เทคนิดที่ได้รับจากการวาดไปพร้อมกับอีกคน สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับงานตัวเอง

  • การเว้นขาวที่ต่างกัน
  • ดวงตาและสมองของเราจินตนาการคู่สีออกมาไม่เหมือนกัน
  • คู่สีที่เราคิดว่าผสมกันแล้วด่าง จริงๆ กลับให้อารมณ์ที่งดงามในแบบของมัน
  • การ blend สีให้เข้ากัน (เงาน้ำของเคียจะลงแบบเป็นเส้นแข็งๆ คราวหน้าจะลองปรับให้ซอฟท์กว่านี้ค่ะ)
  • การใช้ทิชชู่สร้าง texture ก้อนเมฆจางๆ
  • เทคนิคการดีดสีด้วยพู่กัน ทำเป็นดวงดาว สามารถทำได้ทั้งแบบหยาบๆ และแบบละเอียดยิบ ใช้เวลามากขึ้น แต่ก็คุ้ม
  • ไม่ต้องอายที่งานออกมาสไตล์ต่างกัน เป็นโอกาสที่ดีที่จะได้เรียนรู้จากเทคนิคของอีกคน

Special Thanks

น้องหมอก  https://www.facebook.com/miimorkpage/ ขอบคุณที่ให้ยืมตัวมา ณ ที่นี้ค่ะ เชิญรับกิฟท์วอเชอร์ กินปังเย็นที่ร้านนุ้งเคียฟรี 2 ครั้ง #…

แถม

ปิดท้ายด้วยงานที่มีท้องฟ้าและดวงดาวของเราค่ะ

1908202_817200541652593_3288786838989245803_n

มาถึงตอนนี้คุณผู้อ่านก็คงเริ่มลงสีบรรยากาศเป็นในระดับนึงแล้ว (เป็นไม่เป็นไม่รู้ ขอนับว่าเป็นละกัน ) อย่าลืมทำการบ้านด้วย

คราวหน้ามาฝึกวาดฉากกันเถอะค่ะ ฮึบ

เลิฟยอลค่ะ

-kia

หากอ่านแล้วถูกใจชอบใจ ฝากกดแชร์ด้วยนะครับ ขอบคุณครับ \( - 3-)/
kia

เคีย: รู้ทุกเรื่อง เรื่องละนิดหน่อย นักวาดสีน้ำสมัครเล่น นักเข้าครัวสมัครเล่นกว่า
กำลังจะเปิด Workshop Cafe ของตัวเองแล้ว

เว็บไซต์ : https://kiajinniyhouse.blog/