เจาะลึกเรื่องดินสอกด Mechanical Pencil มีแบบไหนบ้าง? ไปดูกัน!

in Pencil, ชวนชม by darindesign on 07 Sep 2015

อุ๊แม่จ้าววขาวโบ๊ะ! บีบีบล๊อคมีนักเขียนน่ารักฟรุ๊งฟริ๊งฝีมือสีน้ำขั้นเทพมาอัพเกรดให้บล็อคดูดีขึ้นอีกคนแล้ว (ไม่นานบล๊อคนี้คงโดนยึดโดยสาวๆ แน่ ถ้าตาปอนด์ยังชอบดองรีวิวอยู่ กร๊ากก) ใครยังตกเทรนกันอยู่ก็รีบเข้าไปทำความรู้จักและติดตามบทความจาก เธอคนนี้ น้อง kia กับบทความ How to Draw ได้ทั้งความรู้และสนุกสนานไปพร้อมกันเลยค่ะ (อย่าหาว่าอวยนักเขียนด้วยกันเองนะฮ๊าฟฟ ปอยยังไม่เคยเจอะตัวจริงน้องเค้าเลย แค่ได้อ่านบทความของน้อง kia ปอยก็เฝ้ารออ่านบทความต่อไปอย่างใจจดใจจ่อแล้วล่ะ)

หลังจากที่หลบฉากเพื่อเปิดตัวนักเขียนคนใหม่ (เค้าจะลงบทความใหม่ไม่ได้เกี่ยวกะแกเลย ยายปอย) ก็ถึงเวลาที่จะมาสานต่อเรื่องของเราที่ปอยหวังว่าเพื่อนคงยังไม่ลืมกันนะจ๊ะ อ๊ะ! มีคนทำหน้าเหวอ…ต๊าย! ทำเป็นจำไม่ได้ ใช่ซี๊..ซ..ซ (ประโยค abstract ที่ยังงงว่าต้องการไรจากสังคม ใช่ซี๊..ซ) ก็บทความเรื่อง สาวไส้! ลึกถึงแก่นไส้ดินสอ นั่นไงล่ะตัวเธอ ไหนๆ ก็พูดถึงเรื่องไส้ดินสอแล้ว มาสานต่อกันอีกหน่อยว่าใส่ดินสอที่ได้เอาไปใช้ยังไงต่อกันค่ะ

043-03

ไส้ดินสอตั้งหลายแบบเอาไปใช้กับดินสออะไรได้บ้างเนี่ย

ชื่อก็บอกว่าไส้ดินสอก็ต้องเอาไปใส่ในดินสอน่ะสิ ถ..ถ..ถูกต้องแล้วคร๊าบบ แล้วรู้ป่ะ ดินสอที่จะเอาไส้ไปใส่น่ะมันมีกี่แบบ ถ้าเพื่อนใส่ไม่ได้ ใช้ไม่เป็นมีไส้หักกันนะเอ้อ (ไส้หัก! ฟังแล้วเสียวยังไงชอบกล)

ดินสอที่ว่าคือ Mechanical pencil หรือดินสอที่มีกลไกส่งไส้ดินสอออกมาให้เราใช้งานค่ะ บ้านเราเรียกง่ายๆ ว่า ดินสอกด (โอ๊ย! บอกว่าดินสอกดแต่แรกก็รู้แล้ว ใช้กันมาตั้งแต่เด็ก ) ซึ่งมีหลายแบบให้ใช้และสะสม

กลไกที่เห็นในดินสอแบ่งได้เป็น 2 แบบจ้า

1. แบบหมุน (Screw-based pencils)

ดินสอจะมีส่วนที่หมุนให้ไส้ดินสอออกมาตามความยาวที่เราต้องการ บ้างก็จะมีตัวล๊อคเพื่อให้ไส้ดินสอออกทางเดียวไม่กลับเข้าไปในดินสอค่ะ

 

043-04

Lamy ABC หมุนไส้ดินสอออกมาเขียนได้เลย ที่มา : http://www.lamy.com/eng/b2c/abc/110

 

 

2. แบบกด (Ratchet-based pencils)

กลไกหลักๆ คือจะมีวงแหวนหนีบขากรรไกรที่จับไส้ดินสออีกที เมื่อมีการกดหรือผลักให้วงแหวนเคลื่อนที่ไปยังหัวดินสอ ขากรรไกรนี้จะแยกออกจากกันทำให้ไส้ดินสอเคลื่อนที่ออกมา และเมื่อเราปล่อยปุ่มกดจะมีสปริงทำหน้าที่ให้ทุกอย่างกลับเข้าสู่ที่เดิมซึ่งยางเล็กๆ ที่ปลายดินสอ “lead retainer” จะช่วยยึดให้ไส้ดินสออยู่กับที่เมื่อเราปล่อยมือจากปุ่มกดค่ะ  ปุ่มกดที่ว่าจะอยู่ท้ายดินสอก็ได้ หรือจะอยู่กลางดินสอก็มีเหมือนกันนะ (บางคนก็ไม่ค่อยชอบให้มีปุ่มอยู่ตรงกลางแบบนี้เพราะจับไม่ถนัดมือเท่าไรเวลาหมุนดินสอ…ทำไมต้องหมุนดินสอ? เดี๋ยวมาเฉลยกันค่ะ)

043-05

Lamy spirit ปุ่มกดตรงท้ายดินสอ คุ้นเคยกันดีใช่ป่าว ที่มา : http://www.lamy.com/eng/b2c/spirit/161

 

043-07

ดินสอที่มีปุ่มกดด้านข้าง เขียนแล้วกด ก็ใกล้มือดีนะ ที่มา : https://www.guirys.com/pentel-side-fx-mechanical-pencils

 

นอกจากการกดแล้วยังมีแรงอย่างอื่นที่ช่วยให้ไส้ดินสอออกมาได้อีก เช่น

การเขย่าเพื่อให้ลูกเหล็ก (หรือลูกอะไรก็ตาม)

ในดินสอส่งแรงผลักไปยังกลไกปล่อยให้ไส้ดินสอออกมา ออกแบบมาสำหรับคนที่ขี้เกียจกดจิ๊กๆ

ระบบที่ไส้ดินสอจะไหลออกมาอัตโนมัติ

เมื่อเขียนจนไส้ดินสอตรงส่วนหัวหมด หัวดินสอจะถูกกดกับพื้นผิวที่เขียนอยู่ สปริงอีกชุดนี้จะไปกดให้กลไกในดินสอส่งไส้ดินสอออกมาโดยที่เราไม่ต้องไปกดมันเลย มันช่างดีจริงๆ

 

ระบบหักงอดินสอ

เหมาะมากค่ะสำหรับคนชอบความรุนแรง หักดินสอแก้เครียดซะเล้ย! (จริงๆ แล้วก็ไม่ได้หักรุนแรงอะไรขนาดนั้นหรอกนะ) ระบบนี้เป็นกลไกผลักไส้ดินสอโดยใช้แรงกดให้ดินสอหักงอเพียงเล็กน้อย (อย่าบ้าพลัง ดินสอจะหักคามือค่ะ) เมื่อดินสองอก็จะไปทำให้ระบบขากรรไกรที่หนีบไส้ดินสออยู่เคลื่อนที่ เพียงเท่านี้ไส้ดินสอก็จะไหลออกมา โดยที่ไม่ต้องย้ายนิ้วมือน้อยๆ ของเราไปกดที่ท้ายดินสอ (แต่บางรุ่นเค้าก็มีปุ่มกดตรงท้ายดินสอมาให้ เผื่ออยากเปลี่ยนบรรยากาศหักบ้างกดบ้างจะได้ไม่เบื่อ)

 

การกดไส้ดินสอยังมีแบบที่กดแล้วไส้ดินสอไหลฟรื๊ดด..ด ต้องเบรคเอาเท่าที่เราอยากใช้  หรือจะเป็นแบบที่กดออกมาพอดีเขียนอีก ว่าด้วยเรื่องดินสอกดเนี่ยมากมายหลากหลายจริงๆ

043-02

หลายหัวย่อมดีกว่าหัวเดียวเพราะใช้งานต่างกัน แต่ก็ต้องเอาตามที่เพื่อนถนัดด้วยจ่ะ

หัวดินสอกดก็มีหลายแบบนะคะ ก็แล้วแต่ความถนัดด้วยล่ะว่าเราจะเอาไปใช้ในงานอะไร

  • หัวเหล็กยาวมองชัดถนัดดี เขียนแบบ เขียนหนังสือ ใช้สะดวก แต่ถ้าทำตกพื้นอาจมีน้ำตาตก เพราะหัวพังเป็นอันต้องไปช้อปปิ้งใหม่
  • หัวพลาสติก บางรุ่นมีหดหัวเข้าไปได้ เวลาตกก็แค่ไส้หัก พอกดอีกครั้งไส้ก็ออกมาเขียนต่อได้สบาย

ไส้ดินสอขนาดต่างๆ ที่เราได้รู้จักกันไปแล้ว เค้าเอาไปใช้งานกับดินสอกดแบบไหน ยังไง ลองมาดูกันค่ะ

043-01

ส่วนใหญ่ไส้ดินสอเล็กๆ จะใช้กับงานเขียนแบบ ใหญ่ขึ้นมาหน่อยก็ใช้เขียนทั่วไป และใหญ่มากๆ ก็ใช้กับงานศิลปะจ้า

ดินสอกดส่วนใหญ่จะใช้ไส้ดินสอขนาด 0.5 – 0.7 mm ถ้าไส้ดินสอใหญ่กว่า 1.0 mm จะใช้กับ leadholders หรือดินสอกดไส้ใหญ่นั่นล่ะ ซึ่งต้องเหลาดินสอเพราะเขียนไปมากเข้าไส้ดินสอมันจะทู่ขึ้นเรื่อยๆ และนี่ล่ะเป็นสาเหตุให้เรามักจะหมุนดินสอเพื่อเปลี่ยนไปเขียนด้านที่แหลมกว่า เข้าใจรึยังล่ะตัวเธอ แต่เพื่อนๆ ไม่ต้องมาคอยหมุนดินสออีกแล้ว เพราะเค้ามีดินสอที่หมุนให้เราอัตโนมัติที่ชื่อว่า Uni Kuru Toga เป็นดินสอที่เราไม่ต้องหมุนก็แหลมได้อย่างใจ ขอบคุณสิ่งนี้จริงๆ คราวหน้าชวนชมมีบทความเรื่องอะไร อย่าลืมติดตามกันนะจ๊ะบะบายจ้า

 

ขอขอบคุณรูปภาพและข้อมูลเด็ดๆ นะคะ :

https://en.wikipedia.org/wiki/Mechanical_pencil

http://davesmechanicalpencils.blogspot.com/p/my-wiki-mechanical-pencil.html

http://www.lamy.com/

https://www.guirys.com/pentel-side-fx-mechanical-pencils

 

หากอ่านแล้วถูกใจชอบใจ ฝากกดแชร์ด้วยนะครับ ขอบคุณครับ \( - 3-)/
โพสตอนนี้อยู่ในหมวด Pencil, ชวนชม และมี tag ดังนี้ , , , , โพสเมื่อวันที่ .
darindesign

ผู้หญิงอารมณ์ดีที่ไม่ต้องแปลงเพศ เพ้อเจ้อบ้าง สาระบ้าง ชอบอ่าน ชอบฟัง ทำหลายอย่างจนคิดว่าวันละ 24 ชั่วโมงมันน้อยไป แต่ก็ยังมีเวลาสนุกกับชีวิตและดื่มด่ำสิ่งสวยงามรอบตัวเสมอ