ลื่นจนหัวแตก! ปากกาตัดเส้น OHTO Graphic Liner Needle Point Drawing Pen

in Pen by hackhq on 05 Feb 2016

“มามะน้องๆ ขาาาาาา ได้เวลาแต่งหน้า เขียนคิ้ว ทาปาก ก่อนขึ้นการประกวดหัวข้อต่อไปแล้วค่าาา มามะน้องสนิม มานั่งให้พี่แต่งหน้าได้แล้ว มัวแต่จกส้มตำถุง 5 บาทกินอยู่ได้ คีปลุคให้ดูแพงหน่อยค่ะ! คีปลุค!” เจ๊พลอยเค make-up artist ชื่อดังของประเทศไทยกำลังวิ่งวุ่นแต่งหน้าให้กับน้องๆ นางแบบจากรายการ The Fake Thailand

“เอ้า! แล้วนี่กระเป๋าเครื่องสำอางค์ชั้นไปไหนล่ะเนี่ยะะะ??? นังแม้น! เธอเอากระเป๋าชั้นไปใส่แพนงไก่อีกแล้วใช่มั้ย? เอามานี่!”

นังแม้น ลูกมือช่างแต่งหน้าชื่อดังรีบวิ่งหยิบกระเป๋าเลอะแพนงไก่เอามาให้เจ๊พลอยเค

“ว๊ายยยยย! ตายแล้วววว! แล้วนี่ eye liner ของ NARK(ยี่ห้อนาร์ค ไม่ใช่นาร์ส) ของชั้นหายไปไหนยะ? แกเอาไปใช้เขียนเบอร์โทรให้ผู้ชายอีกแล้วใช่มั้ย?! พูด!” เจ๊พลอยเคโกรธกริ้ว

“เอ่ออออ ไม่ทราบว่าต้องการใช้ปากกา liner เหรอครับ? พอดีผมพอมีอยู่บ้าง เอาไปใช้ก่อนได้เลยครับ” อนันปอนด์ เอเวอร์รี่ติง พิธีกรรายการเดินออกมาจากห้องแต่งตัวของนางแบบแล้วควักปากกาออกมาจากกระเป๋าสะพายของเค้า

“กรี๊ดดดด คุณปอนด์นี่ก็ช่างรู้ใจเจ๊ ขอบคุณมากนะคะกำลังรีบเลย ได้ปากกา liner ‘ด้ามโต’ ของคุณปอนด์ช่วยเจ๊ไว้ ไหนๆ ขอลองเอามาถูตาน้องสนิมดูหน่อยสิ…พุ๊ยยยย! นี่มันปากกาตัดเส้น Graphic Liner เฟ้ย!!”

…การพายเรือกลับเข้าฝั่งนี่มันช่างยากจริงๆ

OHTO Graphic Liner-01

OHTO Graphic Liner [ดูเว็บมั้ย?] คือหนึ่งในผู้เล่นรายใหม่ของสมรภูมิปากกา Drawing Pen ครับ จริงอยู่ที่ว่าพวกเรานั้นคุ้นเคยกับปากกาประเภทเส้นเล็กๆ หรือบางคนจะเรียกว่าปากกาเขียนแบบ ปากกาหัวเข็ม ปากกาหมึกซึม ปากกาหัวสักหลาด ซึ่งในท้องตลาดนั้นก็มีมากหน้าหลายตาหลายยี่ห้อมากๆๆ เอาไว้ใช้งานได้หลากหลายประเภทครับไม่ว่าจะเอามาวาดรูป เอามาตัดเส้นการ์ตูน หรืออย่างผมนี่ก่อนที่จะมาใช้ปากกาหมึกซึมและหมึกกันน้ำ ผมก็ใช้ปากกาประเภท Drawing Pen นี่แหละในการสเก็ตช์ภาพครับ

OHTO Graphic Liner-06OHTO Graphic Liner-05

เนื่องด้วยคุณสมบัติเด่นของปากกาประเภท Drawing Pen คือมีเส้นให้เลือกใช้ที่หลากหลายขนาดตามความต้องการ จะเอาไว้ออกแบบลงเส้นเล็กดีเทลเยอะ ก็สามารถเปลี่ยนได้ตามขนาดหัวปากกา อีกทั้งยังมีหมึกแบบกันน้ำให้ใช้ จะลงสีน้ำหรือสีมาร์กเกอร์ทับลงไปก็ได้รับรองว่าไม่มีเลอะ และที่สำคัญคือเรื่อง “ราคา” ที่แน่นอนว่าราคาต่อด้ามก็ไม่แพง ใช้หมดก็ทิ้งซื้อด้ามใหม่มาใช้ ทำให้ไม่ต้องดูแลรักษาจุกจิกมากมายกลัวตันหรืออะไร นี่จึงเป็นเหตุที่ว่าทำไมปากกาประเภทนี้ถึงเป็นปากกาพื้นฐานที่ใครๆ หลายๆ คนต่างก็เคยใช้งานอย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต

OHTO Graphic Liner-08 OHTO Graphic Liner-09

ผมเลยอยากจะแนะนำปากกา Drawing Pen ด้ามนี้ OHTO Graphic Liner จากผู้ผลิตปากกาและดินสอกดเขียนดีสัญชาติญี่ปุ่นอย่าง OHTO ให้ได้รู้จักกันครับ ซึ่งจากที่ผ่านๆ มาเราได้คุ้นเคยกับปากกาและดินสอจาก OHTO กันมาแล้วและผลการรีวิวก็ค่อนข้างเป็นที่น่าพอใจเลยทีเดียว ตัวเด็ดๆ ที่ผมยังติดใจจนถึงวันนี้ก็คงไม่พ้น ดินสอกดกลไกสุดล้ำ! OHTO Super Promecha 1500P Drafting Pencil 0.5mm หรือว่าจะเป็นปากกาประเภท rollerball หัว ceramic ball ที่เขียนลื่นหัวแตกเลือดพุ่งเหมือนโจโจ้ ล่าข้ามศตวรรษคือ เพื่อนซี้สายพันธุ์เหล็ก! OHTO Dude Rollerball Pen และแล้วก็มาถึงปากกาน้องเล็กอย่าง OHTO Graphic Liner ถึงแม้จะเป็นปากกาประเภท Drawing Pen เหมือนกันกับยี่ห้ออื่นๆ แต่หากว่ามันมี “ความแตกต่างที่แสนพิเศษ” ทำให้ไม่มีใครเหมือน ไอความแตกต่างอย่างมีสตาววววนี้คืออะไรเหรอ? อ่านไปเรื่อยๆ อย่ากดข้ามไปอ่านสรุปก็จะได้รู้กันครับ กรั่กๆ

OHTO Graphic Liner-03

OHTO Graphic Liner หน้าก็ตาเหมือนปากกา Drawing Pen ทั่วๆ ไปครับ ด้ามพลาสติกดำขลับแต่โดดเด่นด้วยปลอกปากกาแบบตัดเฉียงที่ดูเท่ไม่เหมือนใคร และมันยิ่งจี๊ดถูกใจเจ๊พลอยเคขึ้นไปอีกจากสีส้มบนปลอกปากกาและเส้นสีส้มเป็นวงล้อมรอบในส่วนของด้ามและปลายปากกานี่แหละ ตัวคลิปเหน็บกระเป๋าเป็นโลหะขัดเป็นเส้นพร้อมสลักยี่ห้อ OHTO เอาไว้ด้วย ซึ่งคลิปนี้ก็แน่นหนาดีนะ จะเหน็บในช่องเหน็บปากกาบนแขนเสื้อก็ไม่หลุดแน่

OHTO Graphic Liner-04

บนตัวด้ามปากกาก็มีรายละเอียดพิมพ์ไว้เยอะมากครับซึ่งอ่านไม่ออกเลยให้ตายเหอะ แต่สิ่งที่อ่านออกและถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ด้านข้างของด้ามปากกานั้นก็คือปากกาด้ามนี้ใช้หมึกแบบ Pigment Ink คุณสมบัติ waterproof และก็ fadeproof ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า เป็นหมึกกันน้ำและกันซีดกันแดดเลีย(กันคนเลียก็ได้นะถ้าอยากลอง…เพื่อนเล่นเหรอ?) ซึ่งก็ถือเป็นมาตรฐานแล้วครับสำหรับปากกาประเภท Drawing Pen เพราะว่าเราเอามาใช้ในงานการวาดภาพหรือสเก็ตช์ซึ่งอาจจะมีการลงสีน้ำทับ ดังนั้น Drawing Pen แบบหมึกกันน้ำจึงเหมาะสมกับการใช้งานประเภทนี้ที่สุด แต่เดี๋ยวขอทดสอบเรื่องหมึกกันอีกทีนะว่าจะทะลุหรือกันน้ำได้จริงๆ เหมือนที่เขียนโม้ไว้ไหม

ปากกาหัวเข็มแบบบอล Needle-Point

อะไรกันวุ้ย?! จะหัวเข็ม จะบอลเอาสักอย่างสิ! แต่ช้าก่อนคุณผู้อ่านที่รัก!(เลียนแบบเคีย) คือผมอยากจะบอกว่าปากกาด้ามนี้มันไม่ธรรมดาครับเพราะมันแตกต่างจากปากกาประเภท Drawing Pen ยี่ห้ออื่นๆ ในท้องตลาด เพราะว่า Drawing Pen ของ OHTO ตัวนี้เป็นหัวปากกาแบบ Needle-Point อ่านชื่อมันก็เข้าใจว่าเป็นแค่หัวเข็มธรรมดาๆ แต่มาครับ! เรามาล้วงลึกๆ กันหน่อยดีกว่า

needle_06

Needle-Point นั้นอธิบายได้ง่ายๆ ก็คือเป็นหัวปากกาแบบ “หัวเข็ม + หัวบอล” เออ ง่ายดี ลองนึกภาพของปากกาลูกลื่นนะครับ ตรงปลายมันก็จะเป็นแหลมๆ แบบโคนสามเหลี่ยมถูกป่ะ แต่ไอ Needle-Point นี่มันคือหัวปากกาแบบเข็มเลยเหมือน Drawing Pen ทั่วไปแต่เปลี่ยนจากหัวสักหลาดมาเป็นลูกบอลเหมือนปากกาลูกลื่นแทน ซึ่งข้อดีของหัวแบบนี้ก็คือเรื่องของความลื่นนนนนนนหัวแตกเวลาเขียนครับ เขียนได้มันมือเพราะหัวแบบลูกบอลมันจะลดแรงเสียดทานที่เกิดขึ้นบนผิวกระดาษ ต่างจากหัวแบบสักหลาดที่มันจะฝืดๆ หน่อยเพราะเป็นการสัมผัสกับผิวกระดาษไปโดยตรงและไม่มีการกลิ้งหมุนนั่นเอง ดังนั้นเรื่องความลื่นก็ต้องยกให้ Needle-Point เค้าล่ะ

OHTO Graphic Liner-07

แต่ใช่ว่ามันจะดีงามไม่มีข้อเสียนะ! จริงอยู่ว่าหัวแบบนี้มันเขียนลื่น แต่ว่าในบางหัว บางขนาด หรือบางองศามันกลับไม่ลื่นอย่างที่คิดครับ ถ้าหัวมันมีขนาดเล็กเกินไปหรือจับปากกาผิดองศาก็จะทำให้เขียนฝืดได้ เพราะอะไร? เนื่องด้วยความที่มันเป็นหัวแบบบอลแบบ Needle-Point ซึ่งการผลิตมันจะเป็นใส่หัวบอลเข้าในท่อเหล็ก แล้วให้ปลายท่อกั้นลูกบอลไม่ให้หลุดร่วงลงมา ไอขอบท่อนี่แหละครับที่ถ้าหากเราเอียงปากกามากเกินไป มันจะไปสะกิดและขูดกระดาษได้ ซึ่งนี่แหละที่ทำให้เขียนได้ไม่ลื่นมือ ถ้าหากคุณจับปากกาแบบเอียงมากๆ หรือใช้ปากกาที่หัวเล็กมากๆ ก็ย่อมจะมีโอกาสที่ขอบท่อนี้ไปสัมผัสกับผิวกระดาษได้ เส้นมันก็เลยอาจจะมีขาดๆ บ้างเพราะตรงหัวบอลมันสัมผัสกับกระดาษได้ไม่เต็มที่นั่นเอง

*ใครอยากอ่านเทคโนโลยี Needle-Point ของ OHTO แบบเต็มๆ ก็เชิญวิ่งเข้าใส่ลิ้งค์นี้นะะะะ : http://www.ohto.jpn.org/index.php?main_page=page&id=1

ขนาดหัวปากกา

OHTO Graphic Liner-02

ปากกา OHTO Graphic Liner เรียกได้ว่ามีขนาดมาให้ครบความต้องการพื้นฐานของการเป็นมนุษย์นักวาดครับ คือมีตั้งแต่เล็กสุดอย่าง 005 ไปจนถึงใหญ่สุดๆ 10 แต่! อย่าให้ตัวเลขบนปลอกมาทำให้คุณไขว้เขว! เพราะอะไร? เพราะว่าเลขขนาดที่เขียนบนปลอกนั้นไม่ได้ตรงกับขนาดที่เราคุ้นเคยกันในยี่ห้ออื่นๆ ครับ 03 ของเราในวันก่อนอาจกลายเป็น 07 ของเราในวันนี้ก็ได้(เหมือนความรักที่เธอเคยมอบให้เรา สักวันหมึ่งก็อาจกลายเป็นความรักที่มอบให้กับชายอื่นก็ได้…เพ้อ)

ดังนั้นเพื่อไม่ให้สับสนหรือซื้อมาผิดขนาด ผมแนะนำให้ไปลองเขียนฟรีๆ ที่ร้านเครื่องเขียนก่อนนะ ก็เอาสมุดวาดภาพของเราไปเลยอ่ะแล้ววาดภาพ ตัดเส้นให้เสร็จ เขียนงานส่งลูกค้าไปเลยก็ได้แล้วค่อยกลับบ้านนอน ถุ๊ย! ลองแค่พองามหรือไม่ก็ดูข้อมูลเทียบขนาดจากตรงนี้ก็ได้นะ ซึ่งขนาดมีดังนี้

OHTO Graphic Liner-10

  • 005 : 0.3mm (เล็กมากๆๆๆๆ ไม่น่าเชื่อว่าจะทำเป็นหัวบอลได้ เจ๋งจริงๆ)
  • 01 : 0.4mm
  • 02 : 0.5mm (ผมว่าขนาดนี่กำลังดี)
  • 03 : 0.7mm
  • 05 : 1.0mm
  • 10 : 1.5mm (เกิดมาเพิ่งเคยเห็น Drawing Pen เส้นใหญ่มากๆ ถ้าจะใหญ่ขนาดนี้แนะนำพี่ไปทำท่อส่งก๊าซใต้ทะเลเหอะ)

เห็นมะว่าขนาด 05 ที่เราคุ้นเคยกัน กลายเป็นเส้นใหญ่ขนาด 1 มิลไปเลย ก่อนซื้อก็ลองก็เทียบกันดีๆ นะจ๊ะ

ลองเขียนจริง

OHTO Graphic Liner Scan-1 OHTO Graphic Liner Scan-2

ลมปากใครๆ หรือจะเท่าได้ลองลิ้มชิมรสด้วยตัวเรา แน๊! จากการทดลองเขียนตั้งแต่ขนาดที่เล็กที่สุด 005 ไปจนถึงขนาดใหญ่สุด 10 ทำให้รู้ซึ้งถึงความเป็นปากกา Needle-Point ของ OHTO อย่างที่ได้ทราบกันไปว่า OHTO Graphic Liner นั้นมีการใช้เทคโนโลยีที่ต่างจาก Drawing Pen ยี่ห้ออื่นๆ จุดเด่นของปากกาด้ามนี้ก็คือเรื่องของ “ความลื่น” ผมลองเขียนไปค่อนข้างเยอะพอสมควรครับซึ่งผมที่ออกมาก็คือเขียนได้ลื่นมือทีเดียวในหวัขนาดช่วง 01 – 05 คุณงามความดีทั้งหมดทั้งมวลนั้นมาจาก Needle-Point พ่อหน้ามนนี่แหละครับที่เป็นตัวทำให้เขียนลื่น การเสียดสีกับกระดาษเวลาเขียนนั้นลดน้อยลงไปมากๆ ต่างกับปากกา Drawing Pen แบบอื่นที่เป็นหัวแบบสักหลาดครับ

OHTO Graphic Liner Scan-3

อีกจุดหนึ่งที่ผมไม่รู้ว่าเป็นของข้อดีหรือข้อเสียอ่ะนะ นั่นก็คือเรื่องความเปียกของปากกา หรือภาษาฝรั่งคือ “wet” ปากกา OHTO Graphic Liner นี้ค่อนข้าง wet เอาเรื่องทีเดียวครับ อย่างขนาด 03 ที่เทียบเท่ากับ 0.7mm ผมคิดว่ามันไม่ควรจะเปียกหมึกท่วมขนาดนั้นนะ คือหมึกมันไหลดีอ่ะ ผมลองเข้าไปอ่านบนเว็บเค้าก็เขียนว่า “low-viscosity oil-based ink (soft ink)” จึงทำให้เข้าใจว่าเป็นหมึกสูตรน้ำมันที่ไม่หนืดมากนั่นเอง ซึ่งมองได้สองแบบก็คือเพราะเราเขียนเร็วลื่นหมึกไหลเร็วเลยยิ่งดี ถมดำก็สะดวกเพราะหมึกไหลไม่ขาด แต่มองในอีกมุมนึงคือปริมาณหมึกที่มากเกินไปสามารถทำให้ลายเส้นของงานเราควบคุมได้ยาก เส้นมีหมึกหนา ซึ่งเสี่ยงที่จะโดนปลายพู่กันที่เปียกน้ำสะกิดแล้วหมึกดำเลอะเทอะได้ อีกประเด็นที่ต้องมองคือเพราะหมึกมันไหลเยอะก็เลยแห้งช้าไง เวลาจะเขียนบรรทัดต่อไปจึงต้องระวังให้มากๆ ต้องรอให้หมึกแห้ง 100% แล้วจริงๆ และอย่าเผลอเอามือไปโดนล่ะ เลอะเทอะแถมลบไม่ออกอีก

005

OHTO Graphic Liner-11

นั่นคือการทดสอบแบบภาพรวมครับ แต่ทีนี้ขอย่อยรายตัวที่ผมพบปัญหาบ้าง คือผมค่อนข้างมีปัญหากับหัวปากกาขนาด 005 และ 10 ซึ่งขอพูดถึงเจ้าตัวเล็ก 005 กันก่อน คือมันเล็กมากครับ เส้นที่ได้งี้คมชัดสวยงามเชียว สานเส้นนี้แบบ หืมมมมมมม คม! คมเว้ย!! แต่มันเขียนได้ไม่ลื่นเหมือนขนาดอื่นๆ นั่นเป็นเพราะด้วยขนาดหัวที่เล็กมากทำให้เวลาเราจับปากกาเอียงมุมป้านไปนิดเดียว ขอบของปลายปากกาก็มีโอกาสที่จะขูดกับกระดาษแล้ว มันเลยรู้สึกขูดๆ ขีดๆ แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้เป็นปัญหาอะไรนะเพราะเส้นที่ได้ยังคงคมชัด สร้างเส้นเล็กสำหรับงานละเอียดได้อย่างไม่มีปัญหาอะไรครับแค่ไม่มันมือ

10

OHTO Graphic Liner-12

มาถึงตัวที่ผมงุนงงกับมันจริงๆ นั่นก็คือ 10 หรือขนาด 1.5mm ผมกลับคิดว่าปากกาด้ามนี้จะเป็นไม้เด็ดของ OHTO Graphic Liner แล้วเชียวนะเพราะคุณสมบัติความเป็น Needle-Point ที่จะยิ่งเขียนลื่นถ้าหัวมีขนาดใหญ่ขึ้น คือด้ามนี้มันก็ลื่นจริงๆ แหละ แต่ประเด็นมันกลับเปลี่ยนไปเรื่องที่ว่า “หมึกไม่ไหล” ใช่ครับ! เห็นจากภาพที่ผมเขียนแล้วสแกนมาให้ดูป่ะ? ไอหัวขนาด 10 แทนที่มันจะหมึกท่วมแล้วเส้นใหญ่กว่า 07 กลับกลายเป็นหมึกออกมาแบบแห้งๆ เทาๆ แถมมีเส้นขาดบ้างอีกต่างหาก ผมสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นเพราะหมึกมันไหลมาไม่ทันกับขนาดปากกาหัวใหญ่ที่ต้องการใช้หมึกมากกว่าปรกติ ผมเลยแก้ปัญหาด้วยวิธีการเขียนให้ช้าลงและจับปากกาตั้งฉากกับกระดาษจึงจะพอช่วยได้ครับ …แต่มันก็ผิดวิสัยการใช้ปากกาป่ะ?

ทั้งนี้เนื่องจากทางบริษัทอุดมพานิชส่งปากกามาให้ผมเพียงแค่ชุดเดียว เลยไม่มีตัวเปรียบเทียบว่าปัญหานี้เป็นที่ปากกาด้ามนี้มันมีปัญหาหรือว่าเป็นทุกๆ ด้ามที่มีขนาด 10 นะ ยังไงถ้าหากคุณผู้อ่านได้ไปพบเจอที่หน้าร้านก็ฝากลองเขียนสักชั่วโมงแล้วมาบอกผลกับเจ๊พลอยเคด้วยนะครับ วิ้งๆ! (เสียงกระพริบขนตาปลอมขนาดเท่าพัด)

แล้วหมึกล่ะเป็นยังไงบ้าง?

OHTO Graphic Liner Scan-4

ไปครับ! ไปทดสอบกับสมุดในตำนานที่ผมใช้เป็นมาตรฐานกระดาษในการทดสอบหมึกกัน ในการทดสอบนี้ผมใช้ปากกาขนาด 03 หรือ 0.7mm มาเขียนเพลง Break Up In A Small Town ของ Sam Hunt (ขอเปลี่ยนแนวเพลงบ้างนะ) ซึ่งหมึกมันก็ไหลแบบ wet นี่แหละ แต่เขียนได้ลื่นสนุกมือดี จะมีบางมุมที่ผมมันมือไปหน่อยจับปากกาเอียงราบมากไปหน่อย(ผมติดนิสัยอ่ะ) เส้นก็เลยจะขาดๆ บ้าง แต่เมื่อดึงสติกลับมาจับปากกาแบบเดิมก็เขียนได้ลื่นไหลไม่มีปัญหาอะไรครับ

OHTO Graphic Liner Scan-5

ผมลองทิ้งให้เวลาผ่านไป ณ ช่วงวินาทีที่ต่างกันแล้วเอานิ้วปาดวัดระดับระยะเวลาในการแห้งของหมึกดู หมึกค่อนข้างแห้งช้าพอสมควรนะ 10 วิไม่แห้งแต่ยังเหลือรอยหมึกจางๆ นี่ทำให้เราต้องระวังในเรื่องการใช้งานเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งผมยังมองว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะเป็นปากกาที่หมึกไหลเยอะเลยทำให้กลายเป็นว่าปากกาขนาด 03 นั้นหมึกแห้งช้าไปเลยครับ และสุดท้ายก่อนจากเลยขอพลิกดูด้านหลังหน่อย ไม่รอดครับ…ลองได้ตกลงมาบนเงื้อมมือของ Moleskine ถ้าไม่เจ๋งจริงรับรองว่าซึมทุกราย กรั่กๆๆ

OHTO Graphic Liner-13OHTO Graphic Liner-14

เอามาวาดรูปดูหน่อยซิ ผมจำไม่ได้แล้วครับว่าไปได้รูปประตูเมฆาไผ่ผันอะไรนี้มาจากที่ไหน แต่เพราะเซฟไว้ในโทรศัพท์มือถือเลยเอามาวาดประกอบการทดสอบเสียเลย ผมทำการทดสอบด้วยปากกา OHTO Graphic Liner หัวขนาด 02 หรือ 0.5mm เพราะเส้นไม่ใหญ่จนเกินไป กระดาษที่ใช้นั้นเป็น Arches Cold Pressed 300gsm ด้านหน้า ตอนลากเส้นก็ไม่มีปัญหาอะไรครับเหมือนปากกา Drawing Pen ทั่วๆ ไปเพราะด้วยว่าผิวของกระดาษค่อนข้างหยาบนิดๆ (ผมว่ายี่ห้อนี้หนักไปทางเรียบเสียมากกว่า) ทำให้เส้นมันดูขรุขระบ้างดูไม่เต็มตา แต่ถ้าลากช้าๆ เน้นๆ ก็ไม่มีปัญหาอะไรครับ ถือว่าใช้งานลงเส้นบนกระดาษสีน้ำได้ดีทีเดียว

OHTO Graphic Liner Scan-6

ลงสีน้ำเลยสิครับจะรออะไร ผมทิ้งกระดาษตากแอร์ห้องพักไว้สักประเดี๋ยวจึงค่อยทำการลงสีน้ำครับ ซึ่งประเดี๋ยวของผมคือประมาณ 5 นาทีครับซึ่งผมคิดว่าอาจจะยังไม่เพียงพอสำหรับการแห้งของหมึก ทำให้ในบางจุดบางเส้นที่ผมเขียนวาดย้ำเส้นมากไปหน่อยหรือมีการลากเส้นตัดกัน เวลาที่เราเอาพู่กันจุ่มสีแล้วป้ายผ่านเลยทำให้มีหมึกร่อนซึมออกมาบ้าง แต่มันเป็นแค่บางจุดจริงๆ ครับ ดังนั้นหากจะใช้สีน้ำระบายทับละก็ ต้องมั่นใจก่อนนะว่าหมึกมันแห้งสนิทมากๆ แล้วจริงๆ ครับ

ราคาและจุดขาย

ราคาขายหน้าร้านนั้นถือว่ากลางๆ ไม่แพงเกินไปค่อนไปทางถูกเลยก็ว่าได้ โดยราคาขายจะอยู่ที่ 45 บาท “ทุกขนาดหัวปากกา” สามารถหาซื้อได้ตามร้านเครื่องเขียนทั่วไปครับไม่ว่าจะเป็น B2S, Betrend หรือว่าร้านสมใจ วันก่อนผมไปสมใจ เซ็นทรัลพระราม 9 ก็เห็นมีขายแล้วนะ ไปยืนลองอยู่นานเชียว คือของสปอนส์เซอร์ไม่ลองแต่ไปลองของร้านชาวบ้านให้เปลืองเล่น กร๊าาากก (ร้านสมใจอ่านเว็บผมหรือเปล่าอ่ะ?)

หรือใครที่ถนัดช๊อปออนไลน์ก็สามารถเข้าไปซื้อหากันที่เว็บ lazada.co.th นะครับ ขายเป็นเซ็ตทุกขนาดหัว ราคา 257 บาทจ้าาาา (ได้ลดอีก 5% ไง ดีงาม) : คลิกโลดดดดด

ความเห็นจากบีบีบล็อก

ผมว่าปากกา OHTO Graphic Liner ค่อนข้างเป็นปากกา Drawing Pen ที่ใช้งานได้ดีเดียวนะ จริงอยู่ที่เราอาจจะคุ้นเคยกับความฝืดหรือหนืดในแบบฉบับของปากกา Drawing Pen หัวสักหลาดทั่วไป ผมเลยอยากแนะนำปากกาด้ามนี้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เมื่อคุณผู้อ่านไปร้านเครื่องเขียนครั้งหน้าแล้วจะลองหยิบมาใช้กันดู ด้วยเทคโนโลยีที่ใช้มันแตกต่างกันแต่สุดท้ายก็เพื่อผลลัพธ์เดียวกันนั่นก็คือ “การสร้างเส้นที่คมชัด กันน้ำ และเขียนได้ลื่น” ดังนั้นนี่จึงเป็นอีกประสบการณ์ที่อยากให้คุณผู้อ่านได้ลองสัมผัสกันดูครับ

OHTO Graphic Liner-15

แม้จะมีข้อติงบ้างเรื่องขนาดหัวปากกาที่ไม่ตรงตามมาตรฐานซึ่งเราแก้ได้ด้วยการลองเขียนหรือเทียบขนาด ปริมาณน้ำหมึกที่ไหลเยอะจนต้องระวังเรื่องการแห้งช้า หรือจะเป็นความน่าผิดหวังในหัวปากกาขนาด 10 ที่ผมเก็งว่ามันน่าจะเป็นดาบฟ้าฟื้นแห่งวงการ Drawing Pen แต่โดยรวมในปากกาหัวขนาดอื่นๆ ถือว่าทำงานได้ดีอย่างไม่ต้องสงสัย เพียงแค่เราต้องปรับจูนการเขียนของเราเองและทำความคุ้นเคยกับมันสักหน่อย มันก็จะสามารถทำงานได้ตรงตามกับความต้องการของเราครับ

ขอขอบพระคุณ

บริษัท อุดมพานิช คอร์เปอร์เรชั่น ที่สนับสนุน eye liner กันน้ำเกร๋ๆ เอ้ย! ปากกา OHTO Graphic Liner เขียนลื่นสนุกมือมาให้ได้ทดสอบกัน ขอบพระคุณครับ!!

หากอ่านแล้วถูกใจชอบใจ ฝากกดแชร์ด้วยนะครับ ขอบคุณครับ \( - 3-)/
โพสตอนนี้อยู่ในหมวด Pen และมี tag ดังนี้ , , , , , , , โพสเมื่อวันที่ .
hackhq

คนธรรมดาที่หลงใหลในการสเก็ตช์ ใช้ปากกาลามี่เป็นอาวุธ มีสมุด Moleskine เป็นผืนผ้าใบและมีจินตนาการในรูปของสีน้ำ หลงใหลรูป รส กลิ่น ของกาแฟ และเคลิบเคลิ้มกับเสียงของดนตรีแจ๊ส | ติดต่อผมบนทวิตเตอร์ได้ที่ @hackhq

เว็บไซต์ : https://www.bbblogr.com