How to Sketch #4 : วาดถึงแค่ไหน แค่ไหนถึงไม่วาด? Deciding What to Draw (Part 2)

in How to Sketch by Louis on 26 Feb 2016

กลับมาพบกันอีกครั้งงงกับ How to Sketch#4 : Deciding What to Draw (Part 2)  – วาดถึงแค่ไหน แค่ไหนถึงไม่วาด? (ภาค 2)

คราวที่แล้วเราพูดกันถึงเรื่องการแบ่งส่วนที่จะวาดด้วยระยะของภาพ เช่น ถ้าเน้นที่ Foreground ก็วาดภาพในส่วน Foreground ด้วยความละเอียดปกติ-ละเอียดขึ้นหน่อย ส่วนระยะที่เหลือก็วาดเบลอๆไปได้ ไปจนถึงการวาดสถาปัตยกรรมที่รายละเอียดเยอะๆ จะแบ่งส่วนที่จะเน้น จะปล่อยยังไง

…เรารู้ว่าพวกนายต้องมีคนที่ลืมไปแล้ว หรือบางคนก็คงยังไม่ได้อ่าน
มานี่ๆ กลับไปอ่านตอนที่แล้วก่อนได้  Deciding What to Draw (Part 1) เลยย

สำหรับ Part 2 นี่เราก็จะพูดถึงการ”เลือก” ที่จะวาด หรือไม่วาดอะไรเหมือนเดิมนั่นล่ะฮะ
แต่ต่างกันตรงที่ เราจะจะแบ่งกันด้วย “SUBJECT” หรือ “ประเด็น”ในภาพ

ซึ่งจะเป็นยังไงนั้น มาๆๆดูกันน


การแบ่งส่วนที่จะวาดด้วย Subject ของภาพ

00b

รูปที่เอามาให้วาดกันวันนี้ก็เป็นรูปคอร์ทภายในปราสาทตาพรหม ประเทศกัมพูชา …ปราสาทที่ใช้ถ่ายเรื่อง Tomb Raider เมื่อนมนานกาเลมาแล้วนั่นล่ะฮะ  (มุมนี้อาจไม่คุ้นกัน แต่เค้ามีมุมขายที่เป็นต้นไม้ใหญ่แทรกตัวผ่ากลางปราสาทหิน) อ่าา พอจะนึกออกกันละใช่มะ ถ้าสังเกตดูในรูปก็จะมีองค์ประกอบต่างๆครบถ้วน นั่นก็คือฝูงชน-นักท่องเที่ยว ตึก-ปราสาท-โบราณสถาน แล้วก็ต้นไม้

ทีนี้ การแบ่งส่วนที่จะวาดด้วย subject ที่พูดถึงนั่นก็คือการแบ่งประเด็นว่า ในรูปนี้เราจะวาดเฉพาะอะไร? อยากให้อะไรเด่นกว่า? เราอยากแสดงออก-เล่าเรื่องอะไรบ้าง?

เช่น

1.เน้นตึก-ต้นไม้

0a

นึกถึงตอนที่เราออกไปวาดนอกสถานที่ฮะ ที่ๆมี Landmark สวยๆ ตึกเจ๋งๆ ตั้งตระหง่านอยู่ในบริเวณนั้น …วัดพระแก้ว นครวัด หอไอเฟล ฯลฯ อะไรพวกนี้ แน่นอนว่าก็ต้องมีคน-นักท่องเที่ยวเดินกันขวักไขว่ในมุมที่เราจะวาด เราก็คงลังเลอยู่นานว่าจะวาดคนลงไปดีมั้ย อ่ะ พอตัดสินใจจะวาดเจ๊ที่ยืนอยู่ตรงนู้น วาดได้แปบๆก็เดินไปไหนละไม่รู้  โธ่ เจ๊!!

เลยเป็นที่มาของการให้เน้นสมาธิไปที่การวาดตึกหรือฉากหลังไปเลย โดยไม่ต้องกลัวว่าถ้ามาใส่คนทีหลังแล้วเส้นจะทับกันจนดูไม่รู้เรื่องจ้า

อีกอย่างนึงก็คือวิธีนี้ใช้สำหรับการเล่าเรื่องเมือง-ทิวทัศน์ ที่เราเจอระหว่างไปเที่ยวแล้วบันทึกด้วยการวาดมันออกมา อย่างเช่นรูปนี้ที่เราเลือกวาดส่วนปราสาท+ต้นไม้ ก็เพื่อแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติและตัวสถาปัตยกรรมว่า เอ้อ มันมีความร่มรื่นที่เป็นลักษณะเฉพาะตัวของที่นี่ ประมาณนี้ครับ

เอ้อ คุยกันมาตั้งนาน ลืมบอกเรื่องอุปกรณ์ที่ใช้

00aก็เป็นอุปกรณ์เบสิกๆ ทั่วไปฮะ

  1. สมุดสเก็ตช์ 1 เล่ม ของ Stillman & Birn Alpha series (กระดาษหนา 150gsm. สีขาว) ด้วยความกระดาษไม่หนามากเลยมีจำนวนแผ่นเยอะจุใจ จนตอนนี้ก็ยังใช้ไม่หมด 55555555
  2. ปากกาตัดเส้น สำหรับคราวนี้เราใช้ 3 ด้าม คือหัว 0.3mm ของ rotring หัว 0.1mm ของ Artline และปากกาสีเทาของ Pentel ซึ่งใช้อันไหนตรงไหนเดี๋ยวจะเล่าให้ฟังนะ
  3. พู่กันของ Escoda อันใหญ่(เบอร์12) อันนึง ไว้ลงพื้นที่ใหญ่ๆ เช่น ต้นไม้ กับพู่กันเบอร์ 8 เอาไว้เก็บรายละเอียด ใบไม้, ลงเงา, เสื้อผ้าคนไรงี้  (กราบร้าน Lamune ด้วยท่าเบญจางคประดิษฐ์ในตำนานงามๆสามสิบสองครั้งสำหรับพู่กันและของอื่นๆ มา ณ ที่นั้นครับ ฮ่าๆๆๆ)
  4. ขาดไม่ได้คือ สีน้ำของ ShinHan (ไม่ได้เช็ดถาดสีก่อน อายจัง 5555555) สีสดถูกจริตมากฮะ แนะนำให้ลอง

เอ้า รู้จักอุปกรณ์ไปแล้ว ก็มาต่อกันเลยยย

01

ชวิ้งงง เสกลายเส้นมาแบบไร้ขั้นตอนใดๆ 555555

จะเห็นว่าา เราจะเขียนเส้นในส่วนที่เป็นปราสาทหินซะมากด้วยปากกาหัว 0.3mm ให้รายละเอียดของหินที่เรียงต่อกันและลวดลายแกะสลัก ช่องประตูหน้าต่างครบถ้วน ส่วนต้นไม้ก็จะไม่ลงรายละเอียดเยอะเท่าตรงปราสาท(เพราะจะลงแสงเงาตอนลงสีอยู่แล้ว) แถมต้นไม้ที่อยู่ไกลๆ ออกไปก็เขียนด้วยปากกา 0.1mm เพื่อผลักระยะให้ดูจางขึ้น ไกลขึ้น

 

01b

มาถึงคน ที่เราไม่ได้เน้นมาก แต่จะไม่ใส่ก็ไม่ได้ ไม่งั้นภาพนี้คงกลายเป็นปราสาทร้าง วังเวงพิลึก ฮ่าๆๆ

ในส่วนนี้ผมใช้ปากากาสีเทาของ Pentel (หัวใหญ่ดี เขียนมันส์มาก) เขียนเร็วๆเอาเฉพาะรูปร่างที่พอดูออกว่าเป็นคน  (นึกถึงสัญลักษณ์ห้องน้ำชาย-หญิง  ความละเอียดประมาณนั้นน่ะครับ)

 

18

มาถึงตอนลงสี เราก็ลงสีจัดเต็มในส่วนที่เป็นปราสาทกับต้นไม้ไปตามปกติ และทิ้งส่วนที่เป็นคนไว้ เท่านี้ก็เรียบร้อยฮะ

 

อาาาวล่ะะะ  มาดูการเน้นที่ SUBJECT อีกแบบนึงกันมั่ง นั่นก็คือออ

2.เน้นคนนน

0b

คุณผู้อ่านก็คงจะเดากันได้แล้วแหละว่า ในข้อนี้ เราก็จะเน้นวาดคนให้ละเอียดเป็นพิเศษ และที่เหลือก็ช่างมัน
ซึ่งก็…ไม่มีอะไรหักมุม ก็เป็นแบบนั้นจริงๆ 555555

อย่างนึงที่ต้องบอก ที่เลือกใช้รูปเดียวกันมาวาด เพราะอยากให้เห็นว่าใน sceneๆ เดียวกัน เราสามารถใช้มุมมองที่ต่างกันในการมองและตีความออกมาเป็นภาพเป็นลายเส้นของเราได้นะฮะ อย่างเช่นถ้าเป็นคนชอบวาดตึกๆอย่างเรามามองรูปนี้ ก็อาจจะเน้นไปที่ปราสาทเหมือนรูปที่แล้ว แต่ถ้าเป็นคนอื่นที่ยี้การวาดสิ่งก่อสร้างมากๆ ก็อาจจะมองเห็นต้นไม้เป็นประเด็นหลักในภาพขึ้นมา แล้วก็วาดเฉพาะธรรมชาติใน scene นั้นๆ  ซึ่งนั่นก็อยู่ที่ความชอบ และการเลือกของคุณๆผู้อ่านนั่นล่ะฮะ

ซึ่งเราก็เชื่อว่าการวาดคนคงเป็นไม้เบื่อไม้เมาของผู้อ่านหลายๆท่านเลยทีเดียว 55555555555(เอาสอนวาดคนซักตอนดีมั้ย)

 

19

สำหรับการเน้นคน เราก็ใช้ปากกา 0.1mm เขียนคนทั้งหมด (ใช้ปากกาหัวเล็กจะได้เก็บรายละเอียดได้เยอะๆ) ส่วนต้นไม้และปราสาทก็ใช้ปากกาสีเทาเขียน Outline และช่องประตูบางช่องเป็นอันเสร็จ  (จริงๆการเน้นคนเนี่ยแอบวาดนานกว่าวาดตึกนะ เพราะมันต้องเขียนดีเทลอะไรจุ๊กจิ๊กเยอะแยะไปหมด ฮ่าๆๆ)

จะสังเกตได้ว่าเทคนิคนึงที่เราใช้บ่อยๆก็คือ การใช้ปากกาคนละสี(ในที่นี้คือ ดำ, เทา) เพื่อแบ่งประเภทหรือระยะของสิ่งที่เขียน อย่างรูปนี้การที่คนถูกตัดเส้นด้วยหมึกดำแล้วสิ่งแวดล้อมต่างๆ ถูกตัดเส้นด้วยหมึกสีเทา มันช่วยมากๆๆๆในการเน้นให้คนเด่นขึ้นมา

 

26

ชวิ้งงงงง พอตัดเส้นเสร็จก็เอามาลงสี

ก็จะเห็นว่า ลงสีเสื้อผ้าของคนแบบหลากสีสันมาก (ถ้าตอนออกไปวาดจริงๆ คนที่เราวาดคงไม่อยู่ตรงนั้นแล้ว ต้องจำสีเสื้อเค้าเอานะจ๊ะ ฮ่าๆๆ) ส่วนของปราสาทก็…ตอนแรกจะเว้นขาวไปเลยแล้วรู้สึกว่ามันหว้าเว้ไป ไม่รอด 5555555555 เลยเอาพู่กันแตะสีน้ำเงินผสมแดง แล้วปาดแห้ง เฉพาะส่วนที่เป็นร่มเงาของปราสาท(ส่วนที่มืดๆในภาพ)เท่านั้นพอ ส่วนต้นไม้นี่แค่เอาน้ำแตะๆตรงที่เป็นเส้นปากกามันก็จะละลายนิดนึงพอเป็นโทนออกสีม่วง-เทาจางๆ  ลงสีท้องฟ้านิดหน่อยเท่านี้ก็เป็นอันเสร็จสมบูรณ์ฮะ


 

แล้วก็จบไปสำหรับวิธีการแบ่งส่วนที่จะวาด ทั้ง 2 part (มีอะไรมั่ง ลืมยัง5555) ทั้ง 6 วิธี นี่ก็เป็นวิธีง่ายๆ เพื่อนำใช้ตีความ-เล่าเรื่องในแบบที่เราต้องการ ซึ่งจริงๆแล้วถ้าถามศิลปินคนอื่น เค้าก็อาจจะมีวิธีการอื่นๆ ที่แตกต่างและน่าสนใจต่างกันไป วันนี้เอาวิธีที่เป็นเบสิกๆ ง่ายๆไปก่อน ฮ่าๆๆ
ใครมีข้อสงสัยในขั้นตอนไหน หรืออยากให้สอนเรื่องอะไรเพิ่มเติมก็บอกกล่าวกลับมาได้นะฮะ (แล้วจะพิจ’ณาอีกทีว่าจะทำมั้ย 5555555555)
สำหรับวันนี้ลาไปก่อน สวัสดีทรีไทม์ กู๊ดบายครับ

.

.

.

ไปสิ

.

.

.

ยังไม่ไปเหรอ?

.

.

.

.

.
เอ้อ เดี๋ยวจะรู้สึกว่าคราวนี้มาสั้นๆ แล้วจากไป 555555

ช่วงท้ายนี้ เอาเป็นขั้นตอนการลงสีทั้ง 2 รูปที่ทำมาเมื่อกี๊  เป็น end credit ละกัน

สำหรับใครที่ยังมึนๆ กับเรื่องพื้นฐานการลงสีน้ำให้กลับไปอ่าน
How to Draw #2 : เรียนรู้การใช้สีน้ำและเทคนิคสีน้ำขั้นต้น ของเคียอีกรอบบัดเดี๋ยวนี้!!

 

02+03+04

เริ่มแรกเลย เริ่มจากรูปซ้ายนะฮะ

  • ลงสีพื้นของตัวปราสาทหิน นั่นก็คือสีน้ำตาล (Vandyke Brown) ไปก่อนด้วยพู่กันเปียกบนกระดาษแห้ง
  • เราไม่อยากให้ตัวปราสาทหินมีสีน้ำตาลอยู่สีเดียว(ค่อนข้างเบื่อสีน้ำตาลแล้ว 55555) เลยแอบหยอดสีน้ำเงิน(Cobalt Blue) กับแดง (Brown Madder) ลงไปนิดนึงให้มันผสมๆ กันออกมาเป็นสีม่วง ทีนี้เราจะใช้สีม่วงเนี่ยสำหรับส่วนที่เป็นเงาของปราสาทหิน…ทั้งนี้ ถ้าถามว่าทำไมไม่ใช่สีม่วงไปเลย จะมาค่อยๆใช้แดงกับน้ำเงินทำไม? ก็ตอบว่า(สำหรับผมนะ) การให้สีมันค่อยๆ ผสมกันบนกระดาษมันจะได้ความหลากหลายของเฉดสีมากกว่าที่ผสมสำเร็จบนถาดแล้วค่อยใช้น่ะครับ
  • ใช้วิธีที่ผ่านมากับส่วนอื่นๆที่เป็นกองหินข้างหน้า-ปราสาทข้างๆ ด้วย

 

05

สังเกตว่ามันจะมีทั้งสีน้ำตาล น้ำตาลแดง แดง น้ำเงิน ม่วง แทรกตัวอยู่ด้วยกัน

 

06

พอมาในส่วนนี้ก็ทำเหมือนๆ กันฮะ ลงสีน้ำตาลเข้มเป็นเบสไปก่อน

 

07+08

  • ระหว่างที่สีน้ำตาลยังไม่แห้งก็หยอดน้ำเงิน/แดงลงไปนิดนึง
  • รอจนสีแห้ง…
  • จากนั้นก็ถึงเวลา Glazing หรือการลงสีเคลือบอีกชั้น (ดูรูปขวา)
    คราวนี้เราใช้สีน้ำตาลเข้ม(Vandyke Brown) ผสมแดง(Brown Madder) ผสม น้ำเงิน(Cobalt Blue)  ให้ได้สีที่เข้มกว่าที่ลงไปในชั้นแรก (มันจะออกม่วง+น้ำตาลเข้ม)
  • จากนั้นก็ใช้พู่กันเล็กปาดไปในส่วนที่เป็นเงา (ดูแสงเงาจากภาพตัวอย่าง) เช่นพวกรอยต่อของหิน ฯลฯ
  • ทำแบบนี้กับปราสาทหินอีกฝั่งด้วย

 

09

พอลงสีปราสาทหินทั้งหมดเสร็จ อย่าลืมลงสีสะพานไม้ตรงกลางด้วยสีน้ำตาลเข้ม(Vandyke Brown) เช่นเดียวกัน

สังเกต ปราสาทหินที่มีการหยอดสีน้ำเงิน-แดงลงไปเสริม จะมีสีแตกต่างจากสิ่งของทั่วๆไปเช่น กองหิน กำแพงด้านหลัง สะพานไม้ เป็นการเน้นให้ของสำคัญๆ โดดเด่นขึ้นด้วยสี (แม้จะนิดเดียวก็ตาม ฮ่าๆ)

 

10+11+12

มาต่อกันที่การลงสีต้นไม้ทั่วๆไป เราก็มีขั้นตอนดังนี้ย์

  • คือต้นไม้เนี่ย ถ้าจะใช้สีเขียวสีเดียวในการลง มันจะดูค่อนข้างไร้มิติมากๆ เวลาจะลงสีต้นไม้ ขอแนะนำให้มีการไล่เฉดระหว่าง เขียวอ่อนไปจนถึงเขียวเข้มฮะ ส่วนถ้าเป็นต้นไม้ในบรรยากาศสดใสๆหน่อย เช่น แดดจ้าๆไรงี้ ก็ไล่เฉดสีตั้งแต่ เหลืองไปจนถึงเขียวเข้มเลยก็ได้ครับ
  • ฉะนั้นในขั้นแรกเราเลยลงสีเหลือง (Indian Yellow) ไปก่อนในส่วนที่ต้องการให้สว่าง
  • จากนั้นลงสีเขียว (Sap Green) ในส่วนที่เหลือ เกลี่ยๆให้สีเขียวกับสีเหลืองเข้าหากัน
  • ระหว่างที่สีเขียวเกือบแห้ง แล้วลงสีเขียว (Sap Green หรือ Sap Green+Hooker’s Green) ซ้ำไปอีกด้วยเทคนิคแห้งบนเปียก ในส่วนที่เป็นร่มเงาขอพุ่มไม้ได้
  • รอให้สีแห้ง

 

13

พอสีชั้นแรกที่ลงไปแห้งเรา ขั้นตอนต่อมาก็คือการลงน้ำหนักอีกชั้น เพื่อเพิ่มมิติให้กับต้นไม้

  • การลงน้ำหนักอีกชั้นเราจะใช้สีเขียวที่เข้มขึ้น นั่นคือ เขียว Hooker’s Green  …ผสมสีเขียว (Hooker’s Green) กับน้ำตาล (Vandyke Brown) ด้วยกันจะได้สีเขียวเข้ม
  • ใช้พู่กันเบอร์เล็ก (ในที่นี้คือ Escoda เบอร์ 8) แต้มให้ได้ลักษณะเป็นใบไม้ ตามส่วนที่เป็นเงาของพุ่มไม้

 

14

แล้วก็ไล่ทำมาเรื่อยๆๆ จากซ้ายไปขวา

 

15 16

ต้นไม้ระยะกลางก็เรียบร้อยฮะ

 

17

ต่อมาๆๆๆ ใกล้เสร็จละ
ลงสีต้นไม้ระยะ Background …จะลงด้วยสีเขียวอ่อนๆ จางๆ ก็ได้ แต่เราเลือกใช้สีน้ำเงิน (Cobalt Blue) ผสมน้ำเยอะๆ ลงจางๆ แล้วแตะสีม่วงแทรกไปเพิ่มอีกที เป็นอันเรียบร้อย

 

18

เสร็จแล้ววววว

 

 

ต่อที่วิธีการลงสีรูปที่เน้นวาดคน

โดยหลักการก็ไม่ต่างกันมากหรอกฮะ แค่มันจะจุกจิกกว่ามากกกกๆๆๆ

20

ใช้พู่กันเล็กค่อยๆ แต้มสีเสื้อผ้า ลงแบบแห้งน้ำไม่เยอะ

 

21

ค่อยๆ ลงไปทีละคนๆๆ

 

22

พอสีที่ลงไปรอบที่แล้วแห้ง ก็ลงซ้ำอีกรอบด้วยสีเดิมที่เข้มขึ้นนิดนึงไปตามส่วนที่เป็นรอยยับ เงา ลวดลายของเสื้อผ้า เป็นการเพิ่มรายละเอียด

สำหรับคนที่อยู่ระยะไกลๆ ก็จบที่ลงสีครั้งแรกก็ได้

 

23

ลงสีสะพานไม้ด้วยน้ำตาลแดง (Burnt Sienna)

 

24

รูปนี้พอไม่ได้ลงสีปราสาทหิน, ต้นไม้ที่เป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของรูป รูปมันก็จะดูโหวงๆ เลยเพิ่มการลงสีท้องฟ้าด้วย Cerulean Blue

 

25b

ความเยอะเข้าสิงอีกแล้ว  55555 รู้สึกว่าภาพขาดน้ำหนักกลางๆ ไป เลยใช้พู่กันเล็กผสมสีม่วงอ่อนๆ (Cobalt Blue + Brown Madder โดยสัดส่วนของ Cobalt Blue เยอะกว่า ประมาณ 70 : 30) แล้วลงสีในส่วนที่เป็นเงา(ตามภาพ) เป็นการเพิ่มรายละเอียดให้กับตัวปราสาทหิน โดยที่ไม่แย่งซีนของคนมากนักเพราะไม่ได้ตัดเส้นหมึก

 

26

ในส่วนต้นไม้ เนื่องจากหมึกที่ใช้เป็นหมึกละลายน้ำ เลยใช้พู่กันแตะน้ำนิดๆ ปาดไปให้โดนหมึกในส่วนที่ควรจะมีเงา ผลที่ได้คือมันก็จะละลายจางๆ ออกไป ให้เอฟเฟคที่นุ่มดีงาม

 

เสร็จแล้วฮะ

หวังว่าคุณผู้อ่านจะได้นำวิธีคิด วิธีมองภาพ รวมไปถึงเทคนิควิธีการวาด/ลงสีไปใช้เวลาออกไปวาดรูปข้างนอกหรือแม้แต่วาดจากรูปต้นแบบก็ตาม

จริงๆ ขอแค่คุณได้วาดรูปบ้าง เท่านี้ก็ดีใจละ 55555

คราวนี้ไปจริงๆ แล้วว ไว้เจอกันคอลัมน์หน้า
เลิฟ

หากอ่านแล้วถูกใจชอบใจ ฝากกดแชร์ด้วยนะครับ ขอบคุณครับ \( - 3-)/
โพสตอนนี้อยู่ในหมวด How to Sketch และมี tag ดังนี้ , , , , , , , , , , โพสเมื่อวันที่ .
Louis

สถาปนิกตัวเล็กๆคนนึง เชื่อว่าทุกคนสามารถวาดรูปให้ดีได้ เพียงแค่ชอบมันเท่านั้นเอง

เว็บไซต์ : https://www.facebook.com/lllouissketcher