หมึกจากฟอสซิลปลาหมึก! ภาพวาดจากหมึกดึกดำบรรพ์ 95 ล้านปี!!

in ชวนชม by shammy on 09 May 2016

สิ่งท้าทายอย่างหนึ่งของการวาดรูปคือการได้รับวัตถุดิบคุณภาพดีในการขีดเขียนผลงาน เรียกได้ว่าอุปกรณ์ดีก็มีชัยไปกว่าครึ่ง อยู่ที่ไหนก็อยากจะหยิบจับอุปกรณ์ออกมาวาดมันเสียหมด จริงมั้ยคะเพื่อนๆ แต่สำหรับคุณเอสเธอร์ ฟอน ฮาลเซน ศิลปินชาวดัชท์นักวาดภาพสัตว์ และสิ่งมีชีวิต วัตถุดิบในงานชิ้นใหม่ของเธอแปลกออกไป เพราะเธอได้รับโอกาสสำคัญในชีวิตก็คือ การได้วาดปลาหมึกยักษ์ที่เคยมีชีวิตอยู่เมื่อ 95 ล้านปีก่อน ด้วยหมึกที่เคยมีอยู่ในตัวของมันเอง พูดได้ว่านี่เป็นน้ำหมึกจากยุคก่อนประวัติศาสตร์ (Prehistoric) กันเลยทีเดียว

ink3

เอสเธอร์ ฟอน ฮาลเซน ศิลปินชาวดัชท์นักวาดภาพสัตว์ และสิ่งมีชีวิต กำลังใช้หมึกจากฟอสซิลปลาหมึกดึกดำบรรพ์วาดภาพ (ที่มา www.nrk.no)

มองผ่านๆ เจ้าปลาหมึกยักษ์ในรูปนี่ หน้าตามันก็เหมือนภาพปลาหมึกยักษ์ในยุคปัจจุบัน ไม่เห็นมีอะไรน่าสนใจ แต่เรื่องราวของมันสิคะ เริ่มจากคุณ Jørn Hurum นักบรรพชีวินวิทยาชื่อดังชาวนอร์เวย์ (paleontologist : ผู้ชำนาญวิชาที่ว่าด้วยสัตว์และพืชดึกดำบรรพ์) ได้รับซากฟอสซิลปลาหมึกยักษ์อายุเวลา 95 ล้านปี ซึ่งถูกค้นพบเมื่อปี 2009 ที่ประเทศเลบานอน เป็นของขวัญ ก็เลยนำมาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ PalVenn ในกรุงออสโล

ภาพฟอลซิลปลาหมึก ที่ถูกขุดค้นพบที่ประเทศเลบานอน ในปี 2009 (ที่มา : www.nrk.no)

ภาพฟอลซิลปลาหมึก ที่ถูกขุดค้นพบที่ประเทศเลบานอน ในปี 2009 (ที่มา : www.nrk.no)

แต่จะเอามาจัดแสดงเฉยๆ ก็คงไม่สร้างความน่าสนใจให้กับเจ้าฟอสซิลชิ้นนี้เท่าไหร่ ดังนั้น คุณ Jørn Hurum ก็เกิดปิ้งไอเดียว่าหมึกที่ปรากฎอยู่ตรงกลางลำตัวของซากปลาหมึกดึกดำบรรพ์นี้น่าจะเป็นวัตถุดิบชั้นดีในการวาดภาพสเหมือนของตัวปลาหมึกเอง โดยได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องราวของนักบรรพชีวินวิทยาผู้มีบทบาทสำคัญในวงการเก็บศึกษาซากฟอสซิลดึกดำบรรพ์ชาวอังกฤษ แมรี่ แอนนิ่ง ผู้ค้นพบหมึกในซากฟอลซิล และนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการวาดภาพในยุค 1800 ไม่รอช้าคุณ Jørn Hurum ก็ทำการสกัดหมึกออกมาในรูปแบบของผงเม็ดสี (powder) แล้วส่งต่อให้คุณเอสเธอร์ วาดภาพสเมือนปลาหมึก แล้วนำมาจัดแสดงคู่กัน ชวนให้ผู้เข้าชมมองซากฟอสซิล แล้วมองภาพปลากรอบ เอ้ยปลาหมึก แล้วนึกอ๋อว่าเมื่อหลายสิบล้านปีก่อน เจ้าของร่างในซากฟอสซิลเคยมีหน้าตาเป็นอย่างไร

ภาพสเมือนปลาหมึกที่เคยอาศัยอยู่บนโลกเมื่อ 95 ล้านปีก่อน (ที่มา : www.nrk.no)

ภาพสเมือนปลาหมึกดึกดำบรรพ์ ที่ได้จากการนำผงหมึกจากฟอสซิล จากปลายพู่กัน (ที่มา : www.nrk.no)

เพื่อนๆ อาจจะคิดว่าขึ้นชื่อว่าหมึก (ink) ก็ต้องต้องคิดถึงสีดำกันใช่มั้ยล่ะคะ แต่เจ้าผงเม็ดสีที่สกัดจากฟอสซิลปลาหมึกดึกดำบรรพ์ตัวนี้กลับให้เม็ดสีออกไปทางโทนสีอุ่น และสีน้ำตาล ซึ่งจริงๆ มันมีที่มาที่หลายคนอาจจะรู้แล้ว แต่ก็อยากจะขอเล่านิดนึงค่ะ ตามธรรมชาติของการนำหมึกในตัวปลาหมึกมาเป็นส่วนประกอบในน้ำหมึก เมื่อผ่านการเขียนเม็ดสีจะค่อยจางเป็นสีน้ำตาลไปตามกาลเวลา เนื่องจากในน้ำหมึกมีส่วนประกอบของสารเมลานิน (Melanin) ซึ่งมีพื้นฐานเป็นสีแดง แต่เมื่อรวมตัวกันมากเข้าในระดับเข้มข้นทำให้เกิดเป็นสีดำ เมื่อสีจางลงก็เลยกลายเป็นสีน้ำตาลนั่นเอง เป็นที่มาของคำว่า สีซีเปีย (Sepia) อ้างอิงจากภาษาลาตินที่แปลว่าปลาหมึกค่ะ

ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่โทนสีที่ได้จะทำให้ภาพปลาหมึกดึกดำบรรพ์ตัวนี้ออกมานุ่มละมุน แถมแอบมีความขลังนิดๆ โดยตัวศิลปินเล่าถึงประสบการณ์การใช้สีชนิดนี้ว่า “สีที่ได้จากฟอสซิลเป็นผงเม็ดสีที่มีความเข้มข้นของสีที่ดี ไม่ต้องทำอะไรมาก เพราะหมึกทำหน้าที่ของมันได้ดีอยู่แล้ว” แถมเธอยังเล่าอีกว่า “พอจินตนาการว่าสีที่กำลังใช้วาดอยู่นี้เป็นตัวช่วยในการเอาตัวรอดของปลาหมึกสมัยที่ยังมีชีวิตอยู่ มันก็น่าตื่นเต้นจริงๆค่ะ”

ถ้าเพื่อนๆ ได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยือนประเทศนอร์เวย์ก็ลองแวะไปชมตัวเป็นๆ และภาพสเมือนของปลาหมึกยักษ์ตัวนี้ได้ที่ Natural History Museum เมืองออสโล แล้วมาเล่าให้แชมฟังบ้างนะคะ

 

ที่มา :

  1. http://www.nrk.no/viten/maler-bilder-med-forhistorisk-blekk-1.12931408
  2. http://www.thisiscolossal.com/2016/05/an-octopus-painted-with-95-million-year-old-ink
หากอ่านแล้วถูกใจชอบใจ ฝากกดแชร์ด้วยนะครับ ขอบคุณครับ \( - 3-)/
โพสตอนนี้อยู่ในหมวด ชวนชม และมี tag ดังนี้ , , , , โพสเมื่อวันที่ .
shammy

แรงงานวาดเขียนอิสระไร้ฝีมือ หลงใหลการเดินเสพเครื่องเขียนตามร้านค้าชั้นนำ รักการเดินทาง เขียนโปสการ์ด แกะยางลบ รักกลิ่นกาแฟ เสพติดชามิ้นท์ มีความฝันว่าสักวันจะมีผลงานวาดเขียนออกมาอวดชาวโลกกับเขาบ้าง

เว็บไซต์ : https://www.instagram.com/shooppa_coco/