How to Draw #2 : เรียนรู้การใช้สีน้ำและเทคนิคสีน้ำขั้นต้น

in How to Draw by kia on 04 Sep 2015

หลายคนที่ลงสีน้ำ เคยลงโคปิกหรือลงสีในคอมมาก่อน และก็คิดว่ามันคล้ายๆกัน

ซึ่งพอมาลงจริงๆ จะพบว่ามันไม่ได้คล้าย แถมยังมีความอึดอัดใจบางอย่างที่ไม่สามารถบังคับให้สีมันเข้มมันอ่อนได้ดั่งใจ

เราเป็นหนึ่งในคนที่ลงสีน้ำด้วยการ์ตูนค่ะ

ช่วงแรกที่ลงคือตอนม.ปลาย ซึ่งง่อยทั้งฝีมือและเครื่องสแกน (…คือแบบ…อายอิ๊บอ๋ายแต่ก็จะให้ดูค่ะ …)

rokeet_hue

สแกนออกมาได้ยับเยินสีเพี้ยนมาก กร๊ากก

ใช้เวลางมโข่งอยู่หลายปี สุดท้ายเจอ comment ในบล็อกเก่าไล่ไปเรียน พื้นฐานการลงสี ก็เลยเอาวะ เรียนกันดูสักตั้ง

แล้วก็พบว่ามันช่วยชีวิตได้มากจริงๆ !! เห้ย มากกกก จากสีน้ำที่เคยเป็นการลงสีแย็บๆ ปาดๆ ปื้ดๆ ไปมา กลายเป็นงานละเอียดที่สนุกขึ้นหลายเท่าที่ได้ทำ

ด้วยรักและปรารถนาดีต่อคุณผู้อ่าน โพสนี้จึงไม่ได้จะสอนแค่พื้นฐานสีน้ำ

แต่จะเป็น “พื้นฐานการเล่นกับสีน้ำให้สนุก” เพื่อ นำไปสู่การหัดวาดภาพที่สนุกขึ้น ต่างหาก


ก่อนจะวาดออกมาเป็นภาพ…

เรามารู้จักกับพื้นฐานการลงสีแบบต่างๆกันดีกว่า

อุปกรณ์ของเราในวันนี้มีแค่

  • ตลับสีน้ำ (ที่น่าจะมีกันแล้วใช่มะ…. ใช่เหอะ ถ้าไม่มีให้ย้อนไปอ่านโพสที่แล้วนะ : How to Draw #1 : แนะนำอุปกรณ์วาดภาพ)
  • กระดาษสีน้ำ 0ในที่นี้ใช้ Canson ผิวหยาบ 300 gsm
  • พู่กัน
  • ถ้วยใส่น้ำ
  • ทิชชู่เช็ดพู่กัน

เท่านั้นเอง มาเริ่มกันเลยค่ะ

02


1. ฉาบสีเรียบ (Flat Wash)

การ ฉาบสีเรียบ เป็นพื้นฐานขั้นสุดที่เรา (เราคนเดียวหรือเราหลายๆ คน แล้วแต่จะคิด) มักจะมองข้ามไป /แหม ก็ลงสีในคอมมันเรียบอยู่แล้วนิ

ตอนที่เราเริ่มหัดวาด เราจะยังเห็นน้ำเป็นแค่สิ่งที่ทำให้สีหายแห้งกรังจากในถาด แล้วปาดลงไปในพื้นที่ที่เราต้องการเท่านั้น

ไม่ใช่ นะคะ ท่านผู้อ่านที่รัก…

สำหรับสีน้ำแล้ว น้ำคือปัจจัยที่ทำให้ภาพวาดดูมีน้ำมีนวลขึ้น ทำให้สีไม่ด่าง ไม่เน่า ไม่ขุ่น

การฉาบสีเรียบทำได้โดยวิธีดังต่อไปนี้

  • แต้มสีมาผสมในที่ว่างของถาด
  • ผสมน้ำในปริมาณที่เหลวพอเหมาะ : เหลวพอเหมาะคือสามารถจุ่มพู่กันลงไปอุ้มน้ำได้โดยไม่ฝืด ตรวจสอบว่าที่จุ่มนั่นจุ่มจนพู่กันชุ่มดีหรือยัง ไม่ต้องกลัวเปลืองสี มันไม่หมดเพราะเรื่องแค่นี้หรอกค่ะ ฮา

03

  • ค่อยๆปาดเส้นหนึ่งลงไป สังเกตในภาพว่าเส้นที่ปาดลงไป ไม่ได้แห้ง จะดูชุ่มอยู่ตลอด แต่น้ำไม่เจิ่งมาก
  • จุ่มพู่กัน ปาดเส้นที่ 2 เหลื่อมกับเส้นแรก ใช้หลักการเดิม
  • ใจเย็นๆ แล้วปาดเหลื่อมกันไปเรื่อยๆ
  • เก็บขอบอย่างอ่อนโยนดุจขนนก

*ข้อควรระวัง* อย่าไปยุ่งกับโซนที่ลงเสร็จแล้วตอนมันเปียก มันจะกลายเป็นฉาบด่าง ไม่ใช่ฉาบเรียบอีกต่อไป

01

ตอนที่ยังเปียกอยู่ก็อย่าเพิ่งใจเสียว่ามันไม่เรียบล่ะ!


2. ไล่สีจากหนาไปบาง (Graded Wash)

06

นี่คือตัวอย่างของการจุ่มสีให้ชุ่มพู่กัน

  • ต้องอาศัยความใจเย็นนิดนึง หลายคนอาจจะคิดว่ามันต้องลงเร็วๆ แต่ที่จริงไม่จำเป็น ถ้าปริมาณน้ำชุ่มพู่กันพอ จะเหลือเวลาให้ลงมาก
  • ปาดเส้นแรกลงไปด้วยความเข้มสีปกติแบบ flat wash
  • เส้นต่อๆ มา ให้ผสมน้ำลงในสีมากขึ้น

05

จะเห็นได้ว่าการไล่สี ไม่ค่อยต่างจากการฉาบเรียบ แค่ทุกครั้งที่คุณปาดลงไป จะต้องใช้น้ำมากขึ้น จนสุดท้ายคือใช้น้ำอย่างเดียวไม่ผสมสีเลย

04


3. ไล่สี 2 สี หรือมากกว่า (Variegated wash)

หรือก็คือการฉาบสีเรียบ flat wash แบบใช้หลายสีนั่นเอง

08

  • วิธีการแทบไม่ต่างจาก flat wash เลย เพียงแต่เพิ่มจำนวนสีที่ลงขึ้นมานั่นเอง
  • ลงสีแรกก่อน จากนั้น ล้างพู่กันอย่างรวดเร็วแล้วเปลี่ยนมาจุ่มสีที่2
  • ปาดทับระหว่างสีเดิมตรงรอยต่อ
  • ถ้าอยากให้สีคงความบางใส สีสด ควรล้างพู่กันทุกครั้งที่เปลี่ยนสีค่ะ ถ้าไม่ล้าง สีจะกลืนกัน และถ้ามันเป็นคู่ตรงข้ามแล้วกลืนกัน มันจะ…บึ๋ย 5555
  • พยายามให้เนื้อสีกับปริมาณน้ำบาลานซ์กัน ถ้าเห็นว่ามันฝืดๆ ให้ผสมน้ำลงในสีมากขึ้นระหว่างรอยต่อของ สี1 กับ สี 2
  • ถ้ายังทำแล้วออกมาไม่พอใจ ลองใหม่ดูนะคะ

07

ส่วนด้านล่างนี่คือตัวอย่างการไล่สีต่อๆ กันแบบไม่ล้างพู่กัน จะได้สวยแบบบึ๋ยๆ

ไม่ได้หมายความว่าสีจะเน่าเสมอไปหรอกนะ มันแค่จะไม่ใช่สีของตัวเองเท่านั้นแหละ เช่นสีส้มที่กลายเป็นสีน้ำตาลไปเลย เป็นต้น

11

ทุกอย่างสามารถประยุกต์ได้

วิธีนี้ เราจะใช้เวลาวาดภาพ galaxy ค่ะ


4. เปียกบนเปียก (Wet on Wet)

จบการ wash ไปแล้ว เข้าสู่เทคนิคเล็กน้ำ เล็กแห้ง เปียก เส้นหมี่ เกาเหลา กันบ้าง #หงาก

เปียกบนเปียก สามารถน้ำไปประยุกต์ใช้กับหลายๆ องค์ประกอบของภาพไว้ ทำให้ภาพดูมี “อะไร”

(เข้าใจคำว่า ดูมี “อะไร” ปะ 555555)

เช่น ท้องฟ้า ผืนน้ำ ภูเขา สีพื้นของกำแพงอิฐ สนิม ลายผ้า ฝนตก …โอ้ย พูดไปก็ไม่หมดหรอกนะ เอาเป็นว่ารู้ไว้ใช่ว่า ทำให้เป็น แล้วจะดีเอง

09

  • เปียก บน เปียก ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าคือการละเลงน้ำ เมื่อลงเสร็จ จะกลายเป็น texture จางๆ ได้อารมณ์สีน้ำแท้ๆ
  • ทำได้โดยการสร้าง wet area เท่าที่ต้องการ ด้วยการปาดน้ำลงบนกระดาษ
  • จุ่มสีให้ชุ่มพู่กัน บรรจงหยดลงไปเท่าที่ต้องการ
  • ปล่อยให้สีเป็นไปตามครรลองของมัน 55555 แค่นี้แหละ ถ้ามากไปให้ใช้ทิชชู่ซับเบาๆ
  • รอให้แห้ง ห้ามไปจับมัน

5. เปียกบนแห้ง (Wet on Dry)

เปียกบนแห้ง เทคนิคที่เราชอบใช้มากๆ เป็นความลงตัวในหลายสิ่ง

เป็นเทคนิคที่มีประโยชน์ในการสร้างแสงเงาของภาพ เติมลวดลาย รายละเอียดให้ภาพ

13

  • ชั้นที่ 1 : ลง flat wash หรือเทคนิคใดก็ได้ จะ wet on wet ไปสักเลเยอร์นึงก็ได้
  • แล้วรอให้แห้ง
  • ใจเย็นๆ รอแห้ง ….
  • ชั้นที่2 : ใช้สีที่ เข้มกว่า เน้น เข้มกว่า ปาดทับเป็นเงาตอนที่ชั้นแรกแห้งแล้ว สามารถใช้น้ำในการเบลอขอบให้เงาดู soft ลงได้ตามอัธยาศัย

*ข้อควรระวัง* ชั้นที่2  เป็นสีที่เข้มกว่าชั้นแรกนะเพื่อนรัก จำไว้..

สีน้ำไม่ใช่ CG … มันยากตรงที่ต้องกำหนดลำดับความสำคัญของสีมาตั้งแต่แรกนี่แหละ


6. แห้งบนแห้ง (Dry on Dry)

มันช่างตรงตัวยิ่งนัก กับเทคนิคหมี่แห้งเช่นนี้ แห้งบนแห้ง คือการ stroke brush เป็นรูปเป็นร่าง โดยที่ไม่ต้องผสมน้ำเยอะ

เน้นการลงให้เห็น texture ของพู่กันค่ะ

เป็นที่นิยมในการสร้างลายไม้ ไม้ไผ่ รอยขูดขีด กิ่งไม้ต่างๆ สร้างสโตรกบรัชให้เหมือนงานสีชอล์ก และอื่นๆ

  • ไม่มีขั้นตอนอะไรเป็นพิเศษ แค่ว่าจุ่มน้ำไม่ต้องชุ่มพู่กันมากเป็นพอ
  • แล้วก็ปาด…

12


อย่าคิดว่ามันจะจบแค่นี้…

10

(คนอ่าน : กรี๊ดดดด จบซะทีเถ๊อะ T T  )

ในเมื่อพวกท่านได้เรียนรู้เบสิคที่จำเป็นของสีน้ำไปพอสมควรแล้ว

เราเห็นว่าจะเป็นการช้าไปถ้าไม่ให้การบ้านท่านให้ต่อเนื่อง ฮ่าฮ่าฮ่า พี่ปอนด์ก็ตัดจบโพสนี้ไม่ได้ค่ะ ไม่ยอมมมมม 

พูดกันตามตรงก็คือ เบสิคที่สอนไปข้างบน ท่านสามารถฝึกจบรวบรัดได้ภายในชั่วโมงเดียว …เชื่อไหม หัดยังไงก็ชั่วโมงเดียว (แบบไม่หยิบมือถือขึ้นมาเล่นไลน์ เล่นทวิตน่ะนะ กร๊าก)

เพราะงั้นอย่าปล่อยให้ความรู้ที่ร่ำเรียนมา เสียไปเปล่าๆ กับการเวลารอ 1 เดือนเพื่อบทเรียนถัดไป

เรามาวาดอะไรกันเลยดีกว่า ♥

เช่น…. อะไรที่อยู่ในบ้านท่าน ที่เป็นทรงเรขาคณิต วาดง่ายๆ

“ส้ม” ละกัน!!

*หมายเหตุ* ว่าจะใช้ส้มในครัว แต่ส้มที่บ้านนุ้งเคียช้ำขั้นสุดแล้ว ไม่สามารถหยิบมาเป็นตัวอย่างในการวาดใดๆ ได้ หากท่านต้องการฝึกกับของจริง สามารถหาวัตถุทรงเรขาคณิตใกล้ตัวท่าน

และนี่คือ random-ส้ม.jpg (จาก google.com) 5555555

  • เตรียมถาดสีและกระดาษของท่านให้พร้อม
  • วาดตามของที่ท่านอยากจะวาด ใครมีส้มก็วาดส้ม ใครมีกล่อง 4 เหลี่ยมก็วาดกล่อง
  • พยายามลิมิตเส้นดินสอของท่านให้เป็นเส้นบางๆ เส้นเดียว ถ้าใครชอบร่างรกๆ ขอร้องให้พยายามใช้ยางลบเคลียร์เส้นให้สะอาดด้วยค่ะ

05_1

งานแรกของท่าน คือ Flat Wash

เพื่ออะไร?

เพื่อที่ท่านจะได้รู้ว่า flat wash แม่มไม่เวิร์คกับวัตถุทรงกลม 555555

มั่ยยยยย 55555 เพื่อทดสอบการคุมสีให้เรียบกับพื้นที่ที่กำหนดต่างหาก  ลงยังไงไม่ให้มันมีรอยด่างตรงขอบ เก็บขอบยังไงให้เรียบ

06_1

เมื่อลงเสร็จ ท่านจะได้รับส้มแบนไร้มิติ 1 ea (เอ้าาาา)

อย่าแพนิค เราไปกันอย่างเป็นขั้นเป็นตอนนะแจ๊ะ …


จากที่เห็นข้างบนก็คือ flat wash ไม่เวิร์คกับวัตถุทรงกลม /หยุดๆ…

เพื่อนรัก เธอจะเห็นได้ว่า random-ส้ม.jpg นั้นไม่ได้เป็นเพียงวัตถุ 2 เฉด ที่มีเพียง orange กับ green

เมื่อจิ้มไปจุดต่างๆ ในภาพ เราจะพบอะไรมากกว่านั้น

orange-03-palette

เอาล่ะ เพื่อนรัก เธอเห็นสีอะไรบ้าง?

ไม่ใช่แค่สีหรอกนะ

ที่ปรากฏในภาพ วัตถุในโลกจริงย่อมมีแสงและเงา จะปฏิเสธสองสิ่งนี้ไม่ได้เลยทีเดียวเชียว

(ณ จุดๆ นี้ เรารู้นะว่าคนที่วาดแบบการ์ตูนบางคนเริ่มอุบอิบในใจแล้ว อย่าเพิ๊งงงง เราไม่ได้เอาคุณมาเชือดดด มาวาดด้วยกันก่อนนน)

เอ้า ดู…

orange-02

เมื่อดูแล้วก็ลองลงตามด้วยเบสิคที่เรียนด้วยกันมาข้างบน

  • Wet on wet
  • Wet on dry
  • ไล่สีด้วยน้ำ
  • ไล่สี 2 สี

ก็ว่ากันไป …พยายามใช้ให้มากที่สุด วาดให้มากกว่า 1 ภาพก็ยังได้ วาดน่าเกลียดแบบภาพข้างล่างก็ไม่เป็นไร การฝึกไม่มีอะไรผิด

07_1

ภาพนี้แรนด้อมใช้มันทุกอย่างเลย!!

แล้วเป็นไง? ….เน่า กร๊ากกกก

แต่ก็ไม่ผิด เน่าก็เอามาให้ดูอยู่ดี ที่เอามาให้ดูเพื่อจะบอกท่านว่า หลังจากพยายามเพ้นท์ตามที่เห็นไปสัก 3 – 4 ภาพแล้ว

ท่านจะเริ่มรู้เองว่า “ความพอดี” ที่ท่านต้องการนั้นเกิดจากการฝึกฝนซ้ำๆ จนพบแบบที่ตัวเองจะชอบในที่สุด

09_1

ผ่างงงงง ภาพนี้เราชอบที่สุด

random-ส้ม.jpg ที่เราพอใจที่สุด คือการใช้สีเข้มทำเงาเพียงเล็กน้อย และเน้นความสว่างของแสงเงา ไม่ให้ high- contrast จนเกินไป

ใช้น้ำสร้าง texture แบบที่ตัวเองพอใจ

เมื่อคุณได้รูปที่คุณพอใจแล้ว …… อย่าหยุดแค่นั้น


ลองเล่นกับสีนอกตำราดู

จะถามว่า เล่นยังไง? คงตอบได้เพียงว่า “อาศัยความกล้า”

เราถูกสอนมาตั้งแต่เรียนศิลปะแรกๆ ว่า สีส้มกับสีม่วง เมื่อใช้ในของกินจะมีความหมายเท่ากับ “ยาฆ่าแมลง” 

แล้วไง ? แคร์มั้ย? ไม่ !!!

ฉันจะสร้างส้มเอเลี่ยนในแบบของฉัน ♥

08_1

  • เลือกคู่สีให้มันโดดไปเลย Orange – Vermilion / Cobalt blue – Purple lake
  • ไล่มัน 4 สีในลูกกลมๆ ลูกเดียวนี่แหละคุณ
  • Voila !!  ส้มเอเลี่ยนผสมยาฆ่าแมลง!!! ….มัน… ก็สวยไปอีกแบบ

จะลองกับสีอื่นไปเลยก็ได้นะ กล้าก็ลองให้หมดเลย เราจะเชียร์อยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ

 

ต่อไปเป็นการลงสีในแบบ signature ของเราแท้ๆ เลยค่ะ

งานวาดของเราใช้ wet on dry เป็นหลัก เพราะเป็นงานแนวการ์ตูนที่เน้นเส้น เน้นความชัด

รายละเอียดดังภาพ

10_1


จบไปแล้ว จบจนได้  เป็นบทที่ใช้พลังงานในการเขียนมากๆ เลยทีเดียว

และเนื่องจากเขียนหนักมาก ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเอนทรี่นี้จะมีประโยชน์แก่ผู้อ่านไม่มากก็น้อย (มากๆ หน่อยเหอะ ขอร้อง)

สำหรับใครที่ได้หัดทำตาม ผลเป็นอย่างไร มีปัญหา อุปสรรค อยากทักท้วง อยากรีเควสเทคนิคต่างๆ ต้องการสอบถาม ต้องการส่งการบ้าน ขอเชิญส่งได้ที่ https://www.facebook.com/bbblog.sketchblog นะคะ เชื่อเถอะว่าทำตามแล้วเป็นประโยชน์ ทำเป็นแล้วงานสเก็ตช์ของคุณผู้อ่านจะสนุกขึ้นเป็นเท่าตัวเลยล่ะ

 

วันนี้บายค่ะ เลิฟยอล

-kia

หากอ่านแล้วถูกใจชอบใจ ฝากกดแชร์ด้วยนะครับ ขอบคุณครับ \( - 3-)/
โพสตอนนี้อยู่ในหมวด How to Draw และมี tag ดังนี้ , , , , , , , , โพสเมื่อวันที่ .
kia

เคีย: รู้ทุกเรื่อง เรื่องละนิดหน่อย นักวาดสีน้ำสมัครเล่น นักเข้าครัวสมัครเล่นกว่า
กำลังจะเปิด Workshop Cafe ของตัวเองแล้ว

เว็บไซต์ : https://kiajinniyhouse.blog/