บีบหลอดสีน้ำให้คุ้มค่าทุกหยาดหยดด้วย ShinHan Art A-Z Tube Wringer

in Watercolor by hackhq on 10 Oct 2014

แปลกมั้ย? ที่นานๆ ทีจะมีของที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการสเก็ตช์เลยมารีวิวให้ได้อ่านกัน หลายคนคงจะรู้ทันแล้วว่าที่เอามีรีวิวก็เพราะสปอนส์เซอร์ให้มา…ก็ถูกต้องนะ แต่ถึงอย่างนั้นก็เถอะ! ถ้าหากของมันไม่น่าสนใจผมก็จะขี้เกียจใช้และไม่อยากจะเอามารีวิวให้ได้อ่านกันหรอก! มันเปลืองเวลานอนของผม! และแน่นอนว่าของในวันนี้มันไม่ได้ช่วยให้การสเก็ตช์ภาพของเราสวยขึ้นหรอกนะ(หา?) แต่มันช่วยให้ชีวิตของเราง่ายขึ้นแถมยังเท่อีกด้วย!

ShinHan Art Tube Wringer-01

ShinHan Art A-Z Tube Wringer

ShinHan Art A-Z Tube Wringer ง่ายๆ คือมันเป็นที่บีบหลอดสีครับ (ขอเรียกสั้นๆ ว่า “ที่บีบสี” นะ) ที่บีบสีอันนี้ผมได้รับการสนับสนุนมาจาก ร้านละมุน สยามสแควร์ซอย 10 ร้านเดียวกับที่ส่งสมุดสเก็ตช์สำหรับแฟชั่นดีไซน์เนอร์ Fashionary ที่รีวิวไปเมื่อสัปดาห์ก่อนนั่นแหละครับ ซึ่งทีแรกนั้นทางร้านยังไม่มีวางขายนะแต่ผมดันตาหาเรื่องไปเห็นมาจากแคทตาล็อกของ ShinHan Art ว่ามันมีไอตัวนี้ขายด้วยเลยลองสอบถามทางร้านดู ร้านก็ตอบกลับมาประมาณว่าเป็นสินค้าใหม่ล่าสุดยังไม่มีวางจำหน่ายนะ แต่หลังจากที่ผมดองรีวิวไปสัปดาห์นึง ทางร้านก็จัดมาขายในราคา 300 บาทให้ได้เสียเงินกันแล้วล่ะครับ

ShinHan Art Tube Wringer-02

กล่องดูเหมือนจะเท่นะ แต่เพราะรูปสีพุ่งกระฉูดออกจากหลอดนี่แหละดูตลกเกินไป #แลดูเป็นคนเรื่องมาก

ShinHan Art Tube Wringer-03

ข้างหลังมีวิธีใช้บอกไว้ด้วยครับเป็นภาษาอังกฤษและภาษามนุษย์ต่างดาว

ได้รับของแล้วก็เชยชมก่อนเลย กล่องสีดำธรรมดาๆ ดูไม่มีอะไรมาก หน้ากล่องมีภาพกราฟฟิคของตัวที่บีบสี แต่ด้านหลังนั้นมีวิธีใช้พิมพ์มาให้อ่านด้วย ซึ่งทีแรกผมก็งงว่าจะบอกมาทำไมในเมื่อมันก็แค่บีบๆ เหมือนเครื่องรีดปลาหมึกปิ้ง แต่จริงๆ แล้วมันมีทริกอยู่นิดนึงในการใช้งานครับนั่นคือ

หลอดสีใหม่แกะกล่อง

เวลาใช้ที่บีบนี้ให้ “เปิดฝาหลอด” แล้วจึงค่อยทำการหมุนบีบสีครับ ทั้งนี้เพื่อเป็นการบีบสีพร้อมไล่อากาศที่อยู่ภายในหลอดตั้งแต่ครั้งแรกเลยเพื่อบีบสีได้เกลี้ยงจริงๆ

หลอดสีที่ใกล้หมดแล้ว

ในการรีดหลอดสีที่ใกล้หมดแล้วให้ทำการ “ปิดฝาหลอด” ใช้ในกรณีที่เราต้องการจะไล่สีที่ค้างอยู่ให้ไปอยู่รวมกันที่ส่วนปากหลอดโดยไม่ต้องการให้สีไหลออกมาครับ

ShinHan Art Tube Wringer-04

ที่บีบสีบรรจุมาในถุงแบบซิปล็อค แกะออกมาเอาไปใส่แซนวิชต่อได้เลย …ประหยัดเกินไปแล้ว!

มาแกะกล่องดูของกันเถอะ ทีแรกผมดูจากราคาก็พลันคิดไปว่า “ราคา 300 บาทมันจะใช้ได้สักกี่ครั้ง” เพราะความแข็งแรงทนทานเป็นเรื่องที่ผมให้ความสำคัญมากนะสำหรับที่บีบสี เพราะเราจะต้องใช้บีบหลอดสีที่เป็นโลหะทั้งขนาดใหญ่และเล็ก แถมยังต้องใช้กันไปอีกนานๆๆๆๆ คิดว่าชีวิตนึงคงไม่ได้ซื้อกันบ่อยนักหรอกนอกจากเราจะทำหายหรือเกิดการหักพังจากการขว้างปาใส่หัวจากคนใกล้ตัวพร้อมด้วยประโยคบอกเล่าที่ว่า…

“ลูกเมียจะไม่มีข้าวกินอยู่แล้ว ยังจะไปซื้อที่รีดปลาหมึกมาอีก!!”

…ถอนหายใจแล้วก็รีวิวต่อ…

ShinHan Art Tube Wringer-05

หน้าตาแบบหล่อเหลาน่าใช้งาน

ShinHan Art Tube Wringer-06

ตรงส่วนด้ามจับมันจะเผยอแบบนี้นะ(ไม่ใช่พัง) เพื่อให้เราสามารถออกแรงบีบหลอดให้แน่นขึ้นได้ครับ

ShinHan Art Tube Wringer-10

กางดูด้านในจะเป็นเส้นเสริมความแข็งแรงในแต่ละส่วน

ShinHan Art Tube Wringer-11

อ้ากว้างๆ ก็แบนราบได้แบบนี้

ผมก็แกะกล่องออกมาอย่างไม่ได้คาดหวังอะไรมาก คงจะเป็นแค่ที่บีบสีก๊องแก๊งเหมือนที่บีบยาสีฟันขายที่แม่สาย แต่เมื่อดึงที่บีบสีนี้ออกมาจากกล่องแล้วลองจับถือดู สิ่งแรกที่คิดหัวก็คือ “มันแน่นมาก” จริงครับ! หากดูจากรูปร่างภายนอกแล้วคุณคงจะคิดว่าดูบอบบางและน่าจะเป็นแค่พลาสติกที่ขึ้นรูปแบบโปร่ง แต่เมื่อลองจับถือและกำบีบส่วนต่างๆ ดูก็จะรู้สึกได้ถึงความแข็งแรง เมื่อพลิกดูด้านในของส่วนมือจับก็จะเห็นว่าพลาสติกที่ใช้นั้นมีความหนามาก แถมในส่วนด้ามโปร่งก็ยังมีเส้นพลาสติกหล่ออยู่ภายในเพื่อเสริมให้แข็งแรงยิ่งขึ้นไปอีก รับรองได้ว่าบีบยังไงก็ไม่แตกหักชัวร์ๆ

…แต่ถ้าปาหัวนี่แตกนะ หัวแตก…

ShinHan Art Tube Wringer-07

พลาสติกส่วนข้อต่อก็ดูแข็งแรงทนทานดีครับ สามารถใช้ได้อีกนาน…ถ้าไม่ร่วงแบบตกตึกรุนแรงเกินไปนะ

ShinHan Art Tube Wringer-12

ข้อต่อกางได้สูงสุดเท่านี้ครับ

ในส่วนที่สำคัญอีกจุดหนึ่งที่ผมเป็นกังวลก็คือส่วนของข้อต่อที่เป็นการยึดกันระหว่างมือจับทั้งสอง ผมลองดึงแงะและถ่างเข้าถ่างออกหลายรอบก็ไม่พบอาการหลวมก๊องแก๊งอะไรเลย ข้อต่อยึดติดกันด้วยข้อต่อวงกลมแน่นหนาแบบ 3 ชิ้น (เหมือน U-Joint อ่ะ) ทำให้มั่นใจได้ว่าไม่ว่าหลอดสีจะทำจากวัสดุอะไร พลาสติก ดีบุกหรืออลูมิเนียมที่มีความแข็งเพียงใด เจ้าที่บีบสีอันนี้เอาอยู่แน่นอนครับ

ShinHan Art Tube Wringer-09

ซี่ของก้านรีดสีก็แข็งดีครับ หลอดเหล็กหนาๆ รีดได้สบายเลย

มาดูที่การบิดกันบ้าง ในส่วนของมือจับสำหรับมือบิดและแกนสำหรับบีบสีนั้นเป็นสีดำตัดกับด้ามจับสีเทาครับ ขนาดของแกนนั้นมีความใหญ่และแข็งแรงดี ผมลองดีดแกนนี้ดูหลายครั้งก็รู้สึกได้ถึงความแข็งแรงของวัสดุที่ใช้ครับ ความยาวก็ไม่สั้นเกินไปไม่ยาวเกินไป สามารถใส่หลอดสีอะคริลิคขนาดใหญ่หรือว่าจะเป็นหลอดสีน้ำขนาดเล็กๆ ก็ไม่มีปัญหา จะเป็นหลอดยาวๆ ก็ใช้ได้เพราะส่วนปลายจะลอดออกมาจากส่วนมือจับแทน และในส่วนที่บิดนั้นก็แข็งแรงและหนาเช่นกันครับ

ShinHan Art Tube Wringer-08

ตัวบิดก็เป็นพลาสติกชิ้นเดียวหนาแน่น ไม่เปราะแตกง่าย

ผมหมุนดูเล่นๆ โดยไม่ได้ใส่หลอดสีเข้าไปก็รู้สึกฝืดนิดๆ ไม่หมุนลื่นปรื้ด ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องดีครับเพราะเราจะได้ค่อยๆ หมุนทีละนิดไม่ทำให้สีไหลทะลักเขื่อนแตกท่วมจานสีครับ บีบจนเสร็จก็จะได้หลอดสีแบบที่เห็นนี้ครับรอยบีบเป็นลอนสวยงามมั่นใจได้เลยว่าจะสามารถใช้ได้หมดเกลี้ยงทุกหยดจริงๆ

ShinHan Art Tube Wringer-13

เตรียมตัวบีบสีลง pan เพื่อจะเอาไปสเก็ตช์นอกบ้าน …มือซ้ายถือกล้องมือขวาจับที่บีบแล้วจะบิดได้ยังไง?!!

ShinHan Art Tube Wringer-14

ปรู๊ดดดดดด! ค่อยๆ บีบนะครับเดี๋ยวมันทะลัก

ShinHan Art Tube Wringer-15

เปลี่ยนเป็นสีแดงมั่ง

ShinHan Art Tube Wringer-16

สังเกตที่ปลายหลอดสีนะครับจะเห็นว่ารอบบีบจากเครื่องจะเป็นลอนแนบสนิท มั่นใจได้เลยว่ารีดสีออกมาได้หมดจดจริงๆ

ลองใช้ที่บีบนี้กับหลอดสีน้ำสีใหม่แกะกล่องยี่ห้อ ShinHan Art เกรด Artist (รออ่านรีวิวเร็วๆ นี้นะ) เพราะว่าสามารถใช้กับสีหลอดใหม่ก็ได้นะเพื่อให้สามารถบีบได้เกลี้ยงสนิทตั้งแต่ครั้งแรกที่ใช้ บีบไปได้นิดนึงก็หยุดครับนั่นเพราะว่าไม่รู้จะบีบไปทำไมเยอะแยะ…เหตุผลอะไรของแก?!! เอาเป็นว่าหลอดสีใหม่ก็บีบได้นะแถมรอยบีบก็สวยด้วย

ShinHan Art Tube Wringer-17

ลองหลอดใหญ่ๆ แบบยาสีฟันดูบ้าง

ShinHan Art Tube Wringer-18

ถึงจะเป็นหลอดที่ทำจากลามิเนตก็สามารถรีดได้ดีเหมือนกัน

ShinHan Art Tube Wringer-19

เหลือยาสีฟันแปรงได้ยันชาติหน้าเลยทีเดียว

และเนื่องจากที่พักของผมไม่มีหลอดสีขนาดใหญ่ๆ ให้ทดลองเลย ผมจึงเดินเข้าห้องน้ำไปฉี่มารอบนึงครับ ปัดโถ่!! เดินเข้าไปหยิบหลอดยาสีฟันมาลองบีบดีครับ โอ้เดชะบุญ! มีหลอดยาสีฟันที่ใกล้หมดเหลืออยู่ 1 หลอดพอดี หลอดยาสีฟันหลอดนี้เป็นหลอดลามิเนต (อธิบายยังไงดีอ่ะ? มันเหนียวๆ เหมือนยาง…เข้าห้องน้ำไปหยิบมาดูเองเหอะ) ถึงแม้หลอดจะใหญ่แต่ก็สามารถรีดได้เกลี้ยงเช่นเดียวกันครับ เรียกได้ว่าใช้ได้กับทุกสิ่งทุกอย่างที่บรรจุอยู่ในรูปแบบของหลอดจริงๆ!! (เดี๋ยวลองเอาไปรีดปลาหมึกดูดีกว่า)

ความเห็นจากคนนอนเสื่อ!!

ถ้าถามว่าราคาที่บีบสีแบบนี้ 300 บาทแพงมั้ย? ผมก็ต้องบอกว่า “ไม่แพง” อีกแล้วครับ คุณผู้อ่านลองกดเข้าที่ลิ้งค์นี้ดูเล่นๆ ก็ได้ http://www.ebay.com/sch/i.html?_nkw=TUBE-WRINGER จะเห็นว่าที่บีบสีที่ทำจากเหล็กจะมีราคาราวๆ 650 – 900 บาท แพงมั้ย? แพง! แต่เมื่อลองดูที่บีบสีของ ShinHan Art แบบเดียวกับที่รีวิวนี้เลยราคาก็จะอยู่ราวๆ 440 บาทครับ แพงกว่าที่ร้านละมุนนำเข้ามาขายในบ้านเราตั้ง 140 บาทแหน่! หรือแม้แต่จากโรงงานผู้ผลิตที่บีบสีโดยเฉพาะอย่างที่นี่ http://www.tubewringer.com/products.php ก็ยังมีราคาแพงกว่า 300 บาทแหน่ะ! ดังนั้นถ้าหากอยากได้ที่บีบสีราคาคุ้มค่าก็ไปซื้อที่ร้านละมุนเหอะครับ เค้าทำราคาได้ถูกกว่าสั่งจากในเน็ดอีกนะ (ไม่ได้อวยเพราะส่งของมาให้นะ แต่เค้าทำราคาได้ถูกจริงๆ)

ShinHan Art Tube Wringer-20

ขอตัวไปบีบสีอื่นๆ ต่อนะ แค่คิดก็สนุกแล้ว

อยากใช้ไหมครับ? กับที่บีบสีของ ShinHan Art แน่นอนว่าเราสามารถใช้ด้ามพู่กันหรือท่อนไม้อะไรก็ได้มารีดหลอดสีของเราไม่ต้องเสียเงินสักบาท แต่ก็อย่างที่รู้ๆ ก็คือต้องออกแรงเหนื่อยหน่อยกว่าจะสามารถเค้นสีออกมาได้จนหมดจริงๆ แถมถ้ารีดไม่ดีรอบรีดก็ไม่สวยงามอีก(ผมชอบให้อะไรๆ ดูเรียบร้อยๆ หน่ะ) ดังนั้นที่รีดสีตัวนี้จะช่วยให้การบีบสีเป็นระเบียบและง่ายขึ้นเยอะครับ หากคุณผู้อ่านมีหลอดสีอยู่เยอะแยะไปหมดและอยากใช้สีให้คุ้มจนถึงหยดสุดท้าย ก็ลองหาเจ้า ShinHan Art A-Z Tube Wringer มาใช้ดูนะครับ มันไม่ได้ช่วยให้เราสเก็ตช์รูปสวยขึ้นหรอกนะ แต่มันเท่!

ขอขอบคุณ ร้านละมุนสยามสแควร์ซอย 10 ที่สนับสนุนที่บีบสีชิ้นนี้มาให้ทดสอบด้วยนะครับ มันทำให้ผมสามารถรีดยาสีฟันที่เหลืออยู่น้อยนิดใช้ไปได้อีกหลายวันเลยทีเดียว (หืม?) ขอบคุณครับ!

หากอ่านแล้วถูกใจชอบใจ ฝากกดแชร์ด้วยนะครับ ขอบคุณครับ \( - 3-)/
โพสตอนนี้อยู่ในหมวด Watercolor และมี tag ดังนี้ , , , , โพสเมื่อวันที่ .
hackhq

คนธรรมดาที่หลงใหลในการสเก็ตช์ ใช้ปากกาลามี่เป็นอาวุธ มีสมุด Moleskine เป็นผืนผ้าใบและมีจินตนาการในรูปของสีน้ำ หลงใหลรูป รส กลิ่น ของกาแฟ และเคลิบเคลิ้มกับเสียงของดนตรีแจ๊ส | ติดต่อผมบนทวิตเตอร์ได้ที่ @hackhq

เว็บไซต์ : https://www.bbblogr.com