How to Sketch Journal #1 : เมื่อท้องว่าง…ก็ต้องกิน เมื่อมือว่าง…ก็วาดรูปกัน!

in How to Sketch Journal by NewsAri on 08 Jun 2018

อะแฮ่มมม ขอสวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านค่ะ เรามีนามว่านิวส์อาริ เป็นหญิงอ้วนบนดาวโลกคนหนึ่งผู้หลงใหลในอาหารการกิน และมีงานอดิเรกคือการหาของกินอร่อย ๆ วันนึงคิดได้ว่าเราควรทำอะไรให้มากกว่าการกินอาหารและรอเวลาอ้วนขึ้นมากไปกว่านี้ เลยมานั่งคิดว่า เอ๊ อันตัวเรานี้ก็พอมีความสามารถในการวาดรูปแบบถู ๆ ไถ ๆ บวกกับเป็นคนชอบจดบันทึก เลยเอามารวมกันเป็นการวาดรูปอาหารการกินซะเลย (เอ้า … นำเข้าเรื่องแบบห้วน ๆ งี้เลยเรอะ 555)

ประจวบเหมาะกับได้รับคำชวนจากคุณพี่ปอนด์แห่ง B.B.Blog ให้มาเขียนบทความ เลยรีบตอบตกลงทันที ด้วยความดีใจและปลื้มปิติ (เย้ ๆ ได้เป็นนักเขียน Bbblog แล้ววว) และด้วยความที่เราเป็นมือสมัครเล่นทั้งเรื่องการเขียนและการวาด เลยขอฝากเนื้อฝากตัวไว้ด้วยนะคะ มีอะไรเพิ่มเติมก็คอมเมนต์แนะนำกันมาได้เลยค่ะ

อ้อ … ขอเตือนผู้ที่กำลังจะอ่านบทความทุกท่านค่ะ ว่าบทความนี้มีให้แต่ความหิวล้วน ๆ นะคะ อย่ากระนั้นเลย เรามาเริ่มลงมือวาดกันเลยดีกว่าค่ะ…

มาดูอุปกรณ์ที่ใช้ก่อนเลยค่ะ

  1. สมุดวาดภาพ Sketchbook ยี่ห้อตามถนัดของแต่ละคนเลยค่ะ ในภาพเราใช้ของ POTENTATE 300 gsm
    (ซึ่งเพิ่งลองยี่ห้อนี้ครั้งแรกเพื่อการนี้เลยนะเนี่ย)
  2. ดินสอหรือดินสอกด แนะนำว่าไส้ควรเป็นเบอร์ไม่เข้มมาก เราใช้เบอร์ HB ค่ะ
  3. ปากกา PIGMA เบอร์ 01 สี SEPIA เรื่องของยี่ห้อก็แล้วแต่ถนัดอีกเหมือนกันค่ะ แต่เน้นว่า ต้องกันน้ำ! (waterproof) นะคะ เพราะเทคนิคที่เราใช้คือตัดเส้นก่อน แล้วลงสีน้ำทีหลังค่ะ
  4. ปากกา PIGMA เบอร์ 03 สี BLACK อันนี้เราเอามาเปรียบเทียบสีของเส้นให้ดูค่ะ
  5. พู่กัน RUBENS เบอร์ 3 สุดรักสุดหวงของเราเอง
  6. สีน้ำก้อน เราใช้ยี่ห้อ Winsor & Newton สี Yellow Ochre โดยสีทั้งหมด ไม่จำเป็นต้องใช้ตามเราเป๊ะๆ นะคะ
    ใครมีสีที่ใกล้เคียง ก็สามารถเอามาใช้แทนกันได้หมดจ้า
  7. สี Indian Red
  8. สี Burnt Umber
  9. สี Lamp Black
  10. ยางลบ (ลืมหยิบมาแชะภาพหมู่ด้วย 555)

หลังจากสาธยายแนะนำอุปกรณ์กันจนกินพื้นที่หลายบรรทัดแล้ว ก็ได้เวลาซักที ที่เราจะ จะ จะ…
เริ่มลงมือกันเล้ยยย!!!

การมองภาพ มองของจริงยังไง ให้ดูง๊ายง่ายต่อการวาด

ปัญหาหลัก ๆ ของการวาดรูปสเก็ตช์จากของจริงเลยก็คือ การที่ของจริงมันมีรายละเอียดมากเกินไป สำหรับผู้ที่ชำนาญแล้วการมองของจริงแล้วถ่ายทอดออกมาให้สวยเป๊ะมักไม่ใช่เรื่องยาก

แต่! สำหรับเราชาวมือสมัครเล่นนี่สิ ไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหนดี มันเย๊ออออะไปหมด ท่านไม่ต้องตกใจถ้าหากประสบปัญหานั้น เพราะเรามีเทคนิคการมองแบบง๊ายแสนง่าย มาให้ท่านแล้ว ก่อนอื่น ขอแนะนำพระเอกที่จะมาเป็นแบบให้เราในวันนี้ นั่นก็คือออออ “ปลาแดดเดียวทอดฝีมือแม่เราเอง….”

เริ่ม ๆ มาดูรูปกัน นี่ไง ตามภาพเราเริ่มจากการมองส่วนที่ใหญ่สุดก่อน ซึ่งก็คือ ถาดอลูมิเนียมนั่นเอง
มันก็เกิดจากวงรี ๆ สองวง แล้วก็มีความหนาของถาด
เมื่อมองออกแล้ว ก็จับดินสอขึ้นมาค่ะ แล้วก็เริ่มวาดกันเลย เย้

สิ่งต่อมาก็คือชิ้นปลาทอด ซึ่งมีหลายชิ้นเหลือเกิน…

เราควรเริ่มจากมองชิ้นบนสุดก่อนค่ะ ซึ่งเป็นชิ้นหลัก ๆ แล้วถัดมาก็เป็นชิ้นที่อยู่หลัง ตามลำดับ
ในนี้ก็ เส้นสีแดง (1) วาดก่อน แล้วค่อยมาวาดเส้นสีส้ม (2) และสุดท้ายเติมส่วนของเส้นสีเหลือง (3)
โดยการร่างก็วาดไปไม่ต้องกลัวเบี้ยวค่ะ แค่ให้ดูใกล้เคียง ให้คนดูภาพเราแล้วดูออกก็พอค่ะ
ยิ่งเป็นภาพอาหารด้วยแล้ว ก็ไม่ต้องกังวลเลยค่ะ

เห็นม๊าา เริ่มจากอะไรง่ายๆ ก่อน แล้วค่อยๆ ใส่รายละเอียดเพิ่มไปทีละนิด มันก็ไม่ยากอย่างที่คิดนะเนี่ย (หรอออออ)

ถึงเวลาลงเส้นปากกา

เอาล่ะเมื่อเราร่างภาพด้วยดินสอเสร็จแล้ว ก็ถึงเวลาของการลงเส้นปากกาค่ะ จะช้าอยู่ใย มาเริ่มกันเลย

เราจะค่อย ๆ ตัดเส้นไปเรื่อย ๆ เพิ่มส่วนที่เป็นรายละเอียดเล็กน้อย อย่างรอยไหม้ รอยเกร็ดปลา เป็นต้น
เวลาเราลงน้ำหนักหมึกปากกา ก็ผ่อนมือเบาหนักตามส่วนโค้งต่าง ๆ ซึ่งวิธีนี้จะทำให้เส้นที่ได้มีดูเป็นธรรมชาติค่ะ

อันนี้เราทำมาให้ดูเปรียบเทียบกันระหว่างหมึก 2 สี จะเห็นว่าให้ความรู้สึกค่อนข้างต่างกัน ในความคิดเรา สีน้ำตาลซีเปีย จะดูเหมาะกับภาพอาหารมากกว่าสีดำ ทำให้ภาพดูละมุนกว่า ส่วนสีดำจะให้ความรู้สึกแข็ง ๆ ชัดเจนมากกว่า อันนี้ก็แล้วแต่คนชอบเนอะ (นี่ใช้อารมณ์ตัดสินล้วน ๆ 555)

สะบัดแปรงละเลงสี…

และแล้วในที่สุด ก็ได้เวลาลงสีซักที หลังจากที่ร่ายยาวมากกกก (คุณผู้อ่านอย่าเพิ่งปิดหนีกันน๊าาา)
อันนี้จะไม่แจกแจงอะไรมาก ให้รูปเป็นตัวบอกซะเลยค่ะ

เริ่มด้วยการผสมสี Yellow Ochre กับ Indian Red โดยให้ติดไปทางเหลืองโอ๊คมากหน่อย เพื่อลงสีพื้นของชิ้นปลา

ต่อมาก็เพิ่มสีเข้มขึ้นมาหน่อย นั่นก็คือการเพิ่มปริมาณของ Indian Red มากขึ้น แล้วแต้มลงไปขณะสีชั้นแรกยังไม่แห้ง วิธีการนี้คือการระบายสีแบบเปียกบนเปียก (Wet on Wet) ง่อวววดูดีมีสาระขึ้นมาบ้างแล้ว

ต่อมาก็ใช้สี Burnt Umber เพิ่มเข้ามา ระบายในส่วนของหนังปลาทอด ซึ่งมีสีน้ำตาลเข้ม

ระบายชิ้นปลาที่เหลือให้หมด โดยลงสีตามต้นแบบที่เราเห็น และเราก็จะได้ปลาทอดแดดเดียวร้อน ๆ ลงมาอยู่ในสมุดของเราแล้ว เย้

ต่อมาก็เป็นตาของถาดอลูมิเนียมกันบ้าง ให้ใช้สี Lamp Black แตะมานิดดดเดียวนะคะ แล้วละลายน้ำจาง ๆ ระบายโดยเว้น Highlight สีขาวเป็นเส้น ๆ จะได้ลักษณะของถาดโลหะมันวาว

และแล้ววว เราก็จะได้จานปลาทอดที่สมบูรณ์แบบ

แต่ยัง! ยังไม่จบเท่านั้น…

ความเก๋ของเราคือการได้วาด และได้จดบันทึกอาหารที่เรารัก ดังนั้นเราควรไม่ลืมใส่ข้อความอธิบายรสชาติ ความรู้สึกตอนได้กินมันลงไปด้วยนะจ๊ะ

ใครอยากเขียนมากกว่านี้ อธิบายโดยใช้คำที่สุดเหวี่ยงกว่านี้ก็ได้นะ เช่น ปลาทอดแดดเดียวแสนกรอบกรุบกรับ อร๊อยยยอร่อย กินคู่กับข้าวสวยหอมมะลิเกรดเอคัดสรรอย่างดี อื๊อหือ มันฟิน (แบบนี้ก็ได้นะ)

มีปลาเดี่ยว ๆ กลัวจะเหงา เลยวาดข้าวเพิ่มไปซะเลย อิอิ
แล้วก็เป็นอันเสร็จ….

ก่อนจะจบบทนี้ สิ่งที่เราอยากฝากก็คือ…

เราคิดว่าการได้ใช้เวลาเล็ก ๆ น้อย ๆ ทำอะไรที่ชอบ มันไม่เป็นการเสียเวลาเลย มันกลับเป็นการได้ช่วยให้สมองเราชาร์ตแบต และได้ผ่อนคลายจากความเครียดต่าง ๆ ที่เราต้องเจอในทุกวัน (อยู่ ๆ ก็จริงจังขึ้นมาซะงั้น) ทำให้เราได้ปล่อยความคิดให้ลอยไปกับอะไรง่าย ๆ ที่เราทำ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี และมีความสุข

ดังนั้นเราเลยอยากชวนผู้อ่านเริ่มต้นจากการมองอะไรรอบ ๆ ตัว สิ่งที่ทำให้เราเกิดความสุขเล็ก ๆ ขึ้นได้ แล้วหยิบดินสอขึ้นมาบันทึกมันเอาไว้ และสนุกไปกับมัน

สำหรับเราภาพวาดสเก็ตช์ไม่จำเป็นต้องสวย ต้องเหมือนจริงไปทั้งหมด ขอเพียงแค่ให้มันถ่ายทอดเรื่องราว ความทรงจำนั้น ๆ ของเราได้ แล้วเมื่อกลับมาเปิดดู มันทำให้เราอมยิ้มได้…เท่านั้นก็พอค่ะ

ขอบคุณทุกคนที่ติดตามอ่านจนจบน๊าาา 5555 ไว้พบกันอีกในบทความถัดไปจ้าาาา

หากอ่านแล้วถูกใจชอบใจ ฝากกดแชร์ด้วยนะครับ ขอบคุณครับ \( - 3-)/
โพสตอนนี้อยู่ในหมวด How to Sketch Journal และมี tag ดังนี้ , , , , , , โพสเมื่อวันที่ .
NewsAri

คนหนึ่งซึ่งรักการวาดภาพ ชื่นชอบการกิน หลงใหลธรรมชาติ และเครื่องเขียน จึงมีคำกล่าวว่า “เมื่อได้วาดภาพอาหาร ต้นไม้ ใบหญ้า หรืออะไรก็ได้รอบตัว เวลานั้นจะเป็นช่วงที่รื่นรมย์ที่สุดของข้าพเจ้าเอย”