คาบที่ 1 : เรียนรู้และเริ่มใช้งานปากกาหมึกซึมลามี่ซาฟารี

in Pen, Pen Care by hackhq on 18 Sep 2015

“ชื่อบทเรียนจืดสนิทเลยหว่ะ จารย์’ ปอนด์ พวกมึงว่าจริงมะ? กร๊าาากกๆๆๆ” เสียงนักศึกษาน่าตากวนส้นรองเท้า Adidas Superstar ดังขึ้นมาจากหลังห้องเรียน

“เงียบนะครับทุกคน! ที่อาจารย์จะมาสอนในวันนี้มันเป็นเรื่องที่สำคัญมากเลยสำหรับมือใหม่และผู้ที่ได้รับปากกาลามี่ซาฟารีมาเป็นด้ามแรก ถึงแม้ชื่อบทเรียนมันจะจืด แต่ยังไงพวกเธอก็ต้องทนเรียนเข้าไปนะรู้มั้ย…เพราะจารย์เสียเวลาเขียนไปเยอะแล้ว จะไม่อัพก็ไม่ได้เดี๋ยวเหนื่อยฟรี…” อาจารย์ปอนด์…อาจารย์ผู้เรียบร้อยแห่งคณะการปากกาและวิธีระงับกิเลสตะโกนดังขึ้นกึกก้องขอให้นักศึกษาอยู่ในความสงบ แต่ก็แผ่วลงในตอนท้าย

“นายสมชาย! นายที่ไม่ได้เรื่องเลยนะ ไปแกล้งอาจารย์ปอนด์ทำไมเนี่ย?” นางสาวนฤมิตรนากาลนักศึกษาคนเก่งของภาคยกมือแล้วหันหลังไปต่อว่านักศึกษากวนส้นคนนั้น

“จริงด้วยค่ะ หนูก็ได้รับปากกาลามี่มาเป็นของขวัญวันเกิดเหมือนกันค่ะอาจารย์ แต่หนูก็ไม่รู้จะทำยังไงกับมันดี เกิดมาก็เพิ่งเคยได้เคยโดนปากกาหมึกซึมแบบนี้เป็นครั้งแรก พอได้รับมาก็แกะกล่องออกดูก็งงเป็นไก่ตาแตกเลยค่ะ” นักศึกษาขาว เอ้ย! นักศึกษาสาวหน้าตาเรียบร้อยนามว่านางสาวจินตนาการะกินินทีนั่งหน้าห้องพูดออกมาพลางพยักหน้าให้กับเพื่อนๆ (คนติดตามที่หน้าตาจืดๆ เชยๆ) ที่นั่งข้างๆ

“ไงล่ะ! ผมบอกแล้วใช่มั้ยว่าเรื่องนี้มันสำคัญมาก! เพราะว่าอาจารย์เองก็มีเพื่อนหลายคนที่เคยอ่านงานวิจัยเรื่องลามี่รุ่นต่างๆ แล้วเค้าก็ท้วงติงมาว่า ‘ไม่เห็นมีวิธีใช้เขียนไว้เลย ในงานวิจัยก็มีแต่อะไรไม่รู้เขียนไว้สไตล์อากังฟู อยากใช้แต่ใช่ไม่เป็นนะรู้มั้ย’ อาจารย์ก็เลยไปเรียนขอกับอธิการบดีเปิดสอนวิชานี้เสียเลย มามะมาเรียนกันได้แล้ว! แล้วนั่นนายสมชาย! เอาสีน้ำกับสมุดสเก็ตช์นั่งลงจากโต๊ะซะ!” อาจารย์ปอนด์เปิดการสอนเหมือนศิลปินร๊อคบนเวทีคอนเสิร์ต

“ทีจารย์ยังวาดรูปเล่นในห้องประชุมเป็นประจำเลย อะโด่!”

“…อยากจะเอา Adidas Superstar ไปบดที่หว่างคิ้วและริมฝีปากมันจริงๆ” อาจารย์ได้แต่ก้มหน้าบ่นอุบแล้วก็หันเข้าหากระดาน


ใช่แล้วครับ! คุณผู้อ่านต่างก็รู้จักเว็บบีบีบล็อกแห่งนี้ในภาพของเว็บปากกาหมึกซึมลามี่กันใช่ไหมครับ? เนื่องมาจากว่ามีปากกาลามี่รุ่นซาฟารีที่หายากๆ ลิมิเต็ดต่างๆ มาเขียนให้อ่านกันมากมายจนตาลาย แต่คุณทราบไหมครับว่า ในแต่ละวันนั้น ผมมักจะได้รับคำถามมากมายเกี่ยวกับเรื่องปัญหาการใช้งานปากกาลามี่ไม่ว่าจะผ่านทางอินบ๊อกของเฟสบุค อีเมล จดหมาย หรือว่าโทรเลข ซึ่งคำถามส่วนใหญ่จะหนักไปกับเรื่องที่ว่า “ปากกาขายมั้ยผมให้ 200 เลย? ผมรวยผมมีเงินนะจะซื้อทุกสีเลย” หรือ “ปากกาลามี่มันวิเศษวิโสตรงไหนครับแอดมิน?”

…เย็นไว้ลูกเย็นไว้…

แต่คำถามยอดนิยมจริงๆ กลับมาจากผู้อ่านที่เพิ่งได้รับปากกาลามี่ด้ามแรกมาไว้ในครอบครอง ไม่ว่าจะมาจากการเลือกซื้อด้วยตัวเองหรือว่าได้รับมาจากเพื่อนและคนรู้จัก ซึ่งแน่นอนว่าคุณผู้อ่านบางท่านไม่คุ้นเคยกับปากกาหมึกซึมมาก่อนครับ อาจจะเป็นเพราะถนัดใช้ปากกาลูกลื่นหรือใช้ดินสอกดเสียเป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้เกิดข้อสงสัยมากมายเกี่ยวกับการใช้งาน บางคนได้ปากกามาก็ไม่กล้าใช้ไปเลยเพราะกลัวทำพังก็มี ดังนั้นในคาบเรียนแรกนี้ เราจะมาเรียนรู้และรู้จักปากกาหมึกซึมลามี่ซาฟารีรุ่นยอดนิยมและการใช้งานเบื้องต้นไปพร้อมๆ กันเลยนะ!

มาทำความรู้จักปากกาลามี่ของคุณกันก่อนกันก่อน

ILS101-1-01

เมื่อคุณได้รับกล่องปากกาหมึกซึมลามี่มาครั้งแรกนั้น สิ่งที่คุณจะต้องทำก็คือ “ดม” ครับ ดมว่ามันมีกลิ่นของถ่านไม้จากป่าอเมซอนหรือไม่ กลิ่นพลาสติกที่ใช้ทำด้ามเป็นวานิลลาหรือว่าอัลม่อน…ไอบ้า! แกจะไปหลอกเค้าดมปากกาทำไมฟระ?! …ขะ…ขอโทษครับ ที่ถูกต้องคือ…สิ่งแรกเริ่มที่ควรทำก่อนออกจากร้านขายปากกาหรือว่าก่อนกดซื้อลามี่นั้นจะต้องเช็คให้ดีก่อนว่าร้านนั้นให้อะไรมาในกล่องบ้าง เช็คจากการอ่านรายละเอียดทุกครั้งว่าเค้าให้อะไรแถมมาบ้าง มีหลอดสูบหรือแถมมามั้ย? เป็นต้นครับ เพราะจะได้ไม่ต้องมาเสียเวลาตามหาหมึกหรือหลอดสูบหมึกกันให้วุ่นภายหลังนะ

ILS101-1-02

ซึ่งโดยมาตรฐานแล้ว ปากกาหมึกซึมลามี่ที่ขายกันตามท้องตลาดในต่างประเทศนั้น 1 กล่องปากกาลามี่จะประกอบไปด้วย

  1. ตัวปากกา 1 ด้าม
  2. หมึกเติมแบบหลอด 1 หลอด (โดยทั่วไปแล้วจะเป็นหมึกน้ำเงิน)
  3. กล่อง 1 กล่อง (แหงสิ)

แต่กับประเทศไทยนั้น บางร้านที่ขายปากกาลามี่เค้าจะมี “หลอดสูบหมึกหรือภาษาฝรั่งคือ Ink Converter (ร้านสมใจเรียก ‘หมึกโปร่ง’ กร๊าากกๆๆ)” แถมมาให้ด้วย (คือบวกราคาไปแล้วหน่ะ) ซึ่งหากคุณซื้อลามี่ในไทย อย่าลืมทวงถามเรื่องหลอดสูบหมึกด้วยนะเพราะผมเคยซื้อปากกาลามี่จาก B2S แต่เค้าไม่ได้ให้หลอดสูบหมึกมาด้วย กลับมาถึงบ้านก็งงเลยครับ อีกวันกลับไปที่ร้านเอาใบเสร็จไปให้ดูเค้าก็ให้มาเลย ส่วนถ้าหากซื้อลามี่จากต่างประเทศก็อย่าลืมที่จะซื้อหลอดสูบหมึกเพิ่มเติมด้วยนะครับ

ซึ่งข้อนี้เองที่มันจะเป็นที่มาของคำถามว่า “ทำไมซื้อลามี่จากเมืองนอกถึงไม่ได้หลอดสูบหมึกครับ/ค่ะ?” เป็นอันเข้าใจตรงกันนะครับว่าเมืองนอกเค้าขายแยกจ้า

เอาล่ะ! ในเมื่อเราได้ลามี่มาครอบครองสมใจแล้ว เราก็มาแกะกล่องดูของกันเลยดีกว่า

ปากกาลามี่แบบเอี่ยมอ่องถอดด้ามนั้นส่วนใหญ่เมื่อแกะกล่องมาแล้วจะพบแค่ตัวปากกาวางอยู่อย่างโดดเดี่ยวในกล่องครับ ซึ่งไม่ต้องตกใจนะ! เพราะว่าหมึกแถมแบบหลอดที่พูดไปตะกี้นั้นมันจะถูกใส่อยู่ในด้ามปากกาแล้วครับ

เปิดปลอกปากกาลามี่ด้วยการดึงเพื่อชื่นชมความงามของมันมัก 10 วินาทีครับ แล้วจึงค่อยพิจารณาส่วนอื่นต่อไป ซึ่งผมอยากให้คุณผู้อ่านได้ลองสังเกตที่ตัวด้ามปากกาครับว่ามันมีห่วงกระดาษสีน้ำตาลอ่อนติดอยู่ด้วย ไอเจ้าสิ่งนี้มันก็คือ “ห่วงกระดาษ” …ก็ใช่น่ะเซ่ะ! มันมีหน้าที่ใช้สำหรับ กั้นส่วนด้ามปากกาและส่วนมือจับไม่ให้บิดเกลียวเข้าหากัน ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น? ก็เพราะว่าในด้ามปากกามันมีหลอดหมึกอยู่ยังไงล่ะ! ซึ่งถ้าเอาห่วงกระดาษนี้ออกไปแล้วหมุนเกลียวปากกา ก็จะกลายเป็นการเสียบหมึกเปิดใช้งานนั่นเอง แต่เดี๋ยวจะพูดเรื่องเสียบกันอีกทีนะ


ทีนี้มารู้จักส่วนต่างๆ ของปากกาลามี่ซาฟารีกัน

ในเมื่อเราช้อนมือรับปากกาหมึกซึมลามี่สุดสวยด้ามแรกด้ามนี้มาไว้ในมือแล้ว เราก็ควรที่จะมารู้จักกับส่วนต่างๆ ของปากกาลามี่กันหน่อยเนาะเผื่อว่าเวลาคุยกับเพื่อนจะได้เรียกตรงกัน หรือถ้ามีปัญหาสงสัยอะไรอยากจะถามจะได้บอกจุดที่เกิดปัญหาถูกต้องครับ ซึ่งแต่ละส่วนก็มีชื่อเรียกและหน้าที่ดังต่อไปนี้

ปลอก Cap

ILS101-1-03

ก็คือปลอกปากกานั่นแหละจะพูดทำไม? ปลอกปากกาลามี่ซาฟารีเป็นปลอกแบบ snap ครับหรือก็คือแบบเสียบกดปิดทั่วไป ดึงออกมาได้เลยไม่ต้องหมุนคลายเกลียวเหมือนปากกาหมึกซึมแบบคลาสสิคยี่ห้ออื่นนะ โดยปลอกนี้เองจะประกอบไปด้วย 2 ส่วนหลักๆ ที่นักสะสมลามี่เค้าสนใจกันนั่นก็คือ

ILS101-1-04

  1. จุก Cap Top : เป็นส่วนบนสุดของปลอกปากกาครับ ทำหน้าที่ยึดส่วนประกอบต่างๆ ที่อยู่ภายในปลอกไม่ว่าจะเป็นยางยึด คลิป ฯลฯ (ผมจะยังไม่ลงลึกในตอนแรกนี้นะ) และไอจุกนี้เองที่เป็นจุดที่นักสะสมปากกาลามี่ให้ความสนใจ เพราะว่าลามี่รุ่น limited edition แต่ละรุ่นนั้นจะมีจุกที่แตกต่างกันออกไป บางรุ่นเป็นจุกแบบกลม บางรุ่นเป็นจุกสีแดงบ้าง ส้มบ้าง โอยเยอะ! แล้วรู้มั้ยครับว่าในปากกาลามี่รุ่นมาตรฐานนั้น สัญลักษณ์บนจุกจะเป็น “รูปกากบาทสำหรับปากกาแบบหมึกซึม” ส่วน“ปากกาแบบลูกลื่นและโรวเลอร์บอลนั้นจะเป็นจุกแบบขีดเดียวเครื่องหมายลบ”นั่นเอง
  2. ที่เหน็บกระเป๋าเสื้อ Clip : พระเอกที่สุดของปากกาลามี่ซาฟารีจะเป็นอะไรไปไม่ได้ถ้าไม่ใช่ Clip ครับ ด้วยการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของที่เหน็บกระเป๋าทำให้ใครต่อใครที่พบเห็นต่างรู้ได้ทันทีว่านี่แหละคือปากกาลามี่! จุดนี้ก็เป็นอีกจุดนึงครับที่แตกต่างกันไปในลามี่รุ่น limited edition ต่างๆ โดยมาตรฐานแล้วปากกาลามี่ซาฟารีรุ่นที่ผลิตในปัจจุบันจะเป็น clip สีเงินครับ แต่บางรุ่นจะเป็นสีดำเช่นรุ่นดำด้านคลิปดำหรือ charcoal ซึ่งถ้าหากเป็นรุ่นพิเศษก็จะมีสีแดงบ้าง เหลืองบ้าง ตามเก็บกันกระเป๋าฉีกเลยทีเดียว

ด้ามปากกา Body

ILS101-1-05

ประกอบไปด้วยสองส่วนใหญ่ๆ คือ ส่วนมือจับ Grip (บางที่เรียก section) และส่วนตัวด้าม Barrel ซึ่งตัวด้ามนั้นก็ไม่ได้มีอะไรเป็นพิเศษครับ แต่ที่เราสนใจกันคือส่วนของมือจับต่างหาก

มือจับ Grip

ILS101-1-08

ถือเป็นหัวใจหลักของปากกาลามี่รุ่นซาฟารีเลยทีเดียว เพราะว่าเราจะเขียนจะวาดภาพหรือจะโชว์สาวมันก็อยู่ที่ตรงนี้แหละ ด้วยการออกแบบปากกาที่ตั้งใจจะให้เป็นปากกาด้ามแรกของเด็กนักเรียน ลามี่จึงออกแบบให้ “ส่วนของมือจับมีลักษณะเป็นร่องรับกับนิ้วชี้และนิ้วโป้ง” เพื่อให้สามารถจับปากกาได้อย่างถูกวิธีโดยสัญชาตญาณนั่นเอง ซึ่งส่วนมือจับนี้จะประกอบด้วย 3 ส่วนที่สำคัญมาก (โดย 1 ในนั้นเป็นส่วนที่งงๆ) นั่นก็คือ!

ILS101-1-10

ซ้าย: ดำๆ นั่นคือ ink feed / กลาง: nib / ขวา: O-ring

ILS101-1-11

ถอด O-ring แล้วดูพิการแปลกๆ

  1. รางส่งหมึก Ink Feed : ส่วนนี้มีความสำคัญมากเลยรู้มั้ยนักศึกษาทุกท่าน! เพราะการที่หมึกจะไหลจากหลอดหมึกมาสู่ปลาย nib ได้ไม่ใช่ด้วยแรงอธิษฐานแห่งรักนะ แต่เพราะว่าหมึกมันไหลมาตามรางส่งหมึกต่างหากเล่า! ไอพลาสติกสีดำด้านใต้ของ nib นี่แหละครับที่อยู่ในส่วนของมือจับ จะเป็นรางให้หมึกไหลมาสัมผัสที่ด้านในของ nib แล้วก็ส่งหมึกไหลลงมาตามรอยบากของ nib สู่ปลายปากกานั่นเอง
  2. หัวปากกา Nib : นี่แหละครับคือส่วนสำคัญของการกำเนิดเส้นปากกาล่ะ nib ของลามี่ซาฟารีนั้นทำมาจาก stainless steel มีตัวอักษรคำว่า LAMY สลักไว้บ่งบอกถึงความเท่ และยังมีตัวอักษรไม่ว่าเป็น EF, F, M หรือ B ซึ่งเป็นขนาดของเส้นสลักบอกไว้ด้วยเช่นกันตรงส่วนปลายของ nib จะมีการแต่งให้เป็นจุดทรงกลมที่เจียรให้เรียบลื่น ทั้งนี้เพื่อให้สามารถเขียนได้ทุกองศาของการจับปากก ตัว nib นั้นเองจะมีรอยผ่าแบ่งแยกออกเป็น 2 ข้าง รอยบากนี้เองเป็นตัวช่วยในการไหลของหมึกลงมาสู่ปลาย nib แน่นอนว่า nib ปากกานั้นมีขนาดของเส้นให้เลือกหลายแบบด้วย หากสนใจเรื่องขนาดของ nib สามารถอ่านได้จากบทความตอนนี้นะ
  3. โอริง O-ring (ไอนี่แหละที่งงๆ) : บางคนมองว่าไอห่วงสีขาวสีดำที่คั่นอยู่ตรงกลางด้ามปากกาลามี่นี้มันใส่ไว้เพื่อเพิ่มความเก๋คูลไม่ได้มีประโยชน์อะไรกับปากกาหรอก แต่ความจริงแล้วก็คือว่า… เข้าใจถูกแล้วครับ! O-ring นี้มันไม่ได้มีประโยชน์อะไรมากมายไปกว่าคำว่าสวยงามและเติมเต็มความเป็นลามี่เลย ไงล่ะ?! งงมั้ย?!

ILS101-1-09

จบเรื่องของตัวปากกาลามี่ไปแล้วขอเชิญมาเรียนช่วงต่อไปกันเลยดีกว่า…

“โหยจารย์! สอนโคตรยาวอ่ะผมปวดขี้จนขนลุกเกรียวมาตั้งแต่ตะกี้แล้ว เมื่อไหร่จะเลิกจารย์!” ไอส้น เอ้ย! นายสมชายตะโกนออกมาด้วยสีหน้ายิ้มเยาะ

“หากสมชายทนไม่ไหวจริงๆ อาจารย์แนะนำให้ขี้ลงถาดสีแล้ววางทิ้งไว้ให้แห้ง ออกนอกบ้านไปสเก็ตช์ภาพครั้งหน้าจะได้มีสี raw umber ไว้ใช้งานนะ” เสียงอ้วกดังระงมทั้งชั้นเรียน

…จะเล่นมุกโสโครกเพื่ออะไร?

ต่อ! นอกจากตัวปากกาแล้ว สิ่งที่ไม่สามารถขาดได้เลยสำหรับปากกาหมึกซึมลามี่ก็คือหลอดหมึกยังไงล่ะ หลอดหมึกของปากกาลามี่ซาฟารีนั้นมีด้วยกัน 2 รุ่นครับ และสามารถใส่ได้อีก 1 รุ่นรวมเป็น 3 นั่นก็คือ

ILS101-1-12

บน: หลอดสูบหมึก Ink Converter รุ่น Z24 / ล่าง: หลอดหมึกแบบเติม Ink Refill รุ่น T10

ILS101-1-24

บน: หลอดสูบหมึก Ink Converter รุ่น Z24 / ล่าง: หลอดสูบหมึก Ink Converter รุ่น Z26

ILS101-1-25

ซ้าย: หลอดสูบหมึก Ink Converter รุ่น Z24 / ขวา: หลอดสูบหมึก Ink Converter รุ่น Z26

  1. หลอดหมึกแบบเติม Ink Refill รุ่น T10 : เป็นหมึกหลอดแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง จะแถมมากับปากกาลามี่ด้ามใหม่จำนวน 1 หลอด หรือถ้าติดใจอยากซื้อเพิ่มก็สามารถซื้อได้เป็นแบบกล่องบรรจุ 5 หลอด ราคาในไทยขายอยู่ที่ 100 บาท โคตรไม่คุ้มเลยอ่ะแต่สะดวกเว่อร์
  2. หลอดสูบหมึก Ink Converter รุ่น Z24 : ใช้สำหรับกรณีที่เราต้องการจะใช้หมึกสีอื่นหรือยี่ห้ออื่นนอกเหนือจากหมึกหลอดของลามี่ มีลักษณะเป็นหลอดกึ่งใสกึ่งขุ่นที่มีก้านจับสีแดงในส่วนท้าย ใช้สำหรับหมุนเพื่อสูบหมึกให้ไหลเข้ามาเก็บไว้ภายในครับ ตรงกลางหลอดใสจะมี “เขี้ยว” เล็กๆ สองข้างทำหน้าที่ยึดเข้ากับตัวปากกา ราคาในไทยขายอยู่ที่ 150 บาท …และร้านสมใจเรียกว่าหมึกโปร่ง กร๊าากกๆๆๆๆ
  3. หลอดสูบหมึก Ink Converter รุ่น Z26 : อันที่จริงหลอดสูบหมึกรุ่น Z26 มันไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อปากกาหมึกซึมรุ่นซาฟารีหรอกนะครับเพราะว่าความแตกต่างของมันอยู่ที่ปลายของหลอดสูบที่มีขนาดเล็กกว่ารุ่น Z24 โดยหลอดสูบรุ่นนี้มันถูกออกแบบมาให้ใช้กับปากกาลามี่ที่มีลักษณะค่อนข้างเรียวไม่ว่าจะเป็น Lamy Logo หรือจะเป็น Lamy Studio แต่ว่าพอเอาเข้าจริงๆ ก็สามารถนำมาใช้แทนกันได้นะ สามารถใส่เข้าไปในปากกาลามี่รุ่นซาฟารีได้อย่างไม่มีปัญหา เพียงแต่ว่าหลอดสูบรุ่นนี้จะไม่มีเขี้ยวสำหรับยึดเข้ากับปากกา และอีกจุดนึงที่ทำให้หลอดสูบรุ่น Z26 นั้นน่าสนใจก็คือ ตัวหลอดมันเป็นสีเงิน Chrome ยังไงล่ะ! นี่มันถือเป็นอีกระดับของความหรูหราเลยนะ!

“โอยยยยย ปวดเว้ยปวด! แล้วเมื่อไหร่จะได้เขียนล่ะจารย์?!” ไอเกรียนหลังห้องช่างกระตุ้นต่อมบัวขาวเสียจริง


ใส่หมึก!

ILS101-1-06

ก็อย่างที่พูดไปครับว่าปากกาลามี่ด้ามใหม่จะมี “ห่วงกระดาษ” คั่นระหว่างส่วนมือจับและตัวด้ามไว้ ก่อนการใช้งานเราจึงต้องนำห่วงกระดาษนี้ออกครับ ซึ่งคุณผู้อ่านจะเก็บห่วงไว้ก็ได้เผื่อเอาไว้ใช้ภายหลังยามไม่ได้ใช้ปากกา หรือจะโยนให้ลูกหมาโกลเด้นแทะเล่นก็ได้ไม่มีอะไรเสียหาย

ILS101-1-07

เมื่อเอาห่วงกระดาษออกแล้ว ก็หยิบหมึกปากกาที่แถมมาให้ด้วยนั้นใส่เข้าไป ผมเคยได้รับคำถามอยู่บ่อยๆ ครับว่าต้องหันหลอดหมึกด้านใดใส่เข้าไปในตัวปากกา ซึ่งผมจะขออธิบายแยกตามประเภทของหลอดสูบหมึกนะ คือ

ILS101-1-13

หลอดหมึกแบบเติม Ink Refill รุ่น T10 : หยิบหลอดหมึกขึ้นมาดูครับแล้วจะเห็น ว่ามันมีปลายสองด้านที่มีลักษณะแตกต่างกัน ด้านที่มีพลาสติกสีน้ำเงินยื่นออกมา(หรือสีดำในกรณีของหมึกดำ) นั้นคือด้านที่จะถูกเสียบเข้าไปในปากกาครับ ตรงส่วนปากหลอดหมึกนี้เองมันจะมี “แผ่นพลาสติกใสเล็กๆ” กั้นอยู่ แต่ไม่ต้องห่วงนะว่าจะต้องเอามีดมาตัดมาแกะหรือเจาะอะไรเลย เพราะว่าในส่วนของมือจับปากกานั้น ด้านท้ายเค้าจะมีตัวเจาะหมึกยื่นออกมาอยู่แล้ว เราก็แค่เพียงเสียบหลอดหมึกเข้าไปที่ท้ายปากกาตรงๆ แล้วออกแรงกดลงไปให้รู้สึกว่า “เป๊าะ” แสดงว่าหลอดหมึกของเราเข้าประจำตำแหน่งแล้ว จากนั้นก็หมุนตัวด้ามเข้ากับส่วนมือจับก็เป็นอันเสร็จพิธีการใส่หมึกปากกาลามี่ล่ะ

ILS101-1-14

หลอดสูบหมึก Ink Converter รุ่น Z24 : หลอดสูบหมึกแบบก้านแดงนี่จะมีความพิเศษต่างจากหลอดหมึกทั่วไปคือมันจะมี “เขี้ยวเล็กๆ” ยื่นออกมาจากกลางหลอดครับ ไอเขี้ยวนี้เราจะต้องใส่ให้มันเข้ากับ “ร่อง” ที่อยู่ตรงส่วนปลายของส่วนมือจับ ตรงส่วนนี้ถ้าลองสังเกตดูจะเห็นว่ามันมีร่องอยู่ 2 แบบครับคือ “ร่องใหญ่” และ “ร่องเล็ก” ซึ่งร่องเล็กเป็นสิ่งที่เราสนใจเพราะว่าตอนที่เรานำหลอดสูบหมึกใส่นั้น เราจะต้องใส่ให้เขี้ยวเข้าไปยึดในร่องเล็กครับ ทั้งนี้เพื่อความแน่นหนาไม่หมุนหลุดง่ายนั่นเอง ส่วนไแร่องใหญ่นั้นเราไม่สนใจครับเพราะเป็นแค่ส่วนที่ออกแบบมาเพื่อความสวยงามเท่านั้น ยังไงนะเหรอ? ก็ตอนที่เราเอาตัวด้ามใส่เข้าไปในส่วนหัวปากกานั้น ไอร่องใหญ่ๆ นี่ละครับมันจะไปหมุนตรงตำแหน่งกับช่องวงรีที่อยู่บนตัวด้ามได้อย่างพอดิบพอดี เป็นไงล่ะครับ? เห็นถึงความใส่ใจในการออกแบบปากกาหรือยังที่ไม่ทิ้งความยาวส่วนปลายเพื่อใช้ประคองหลอดสูบหมึก แต่มีการเว้นช่องไว้แทนเพื่อไม่ให้ความยาวนั้นไปบดบังช่องบนตัวด้าม อาจารย์ขอคารวะท่านเทพ Wolfgang Fabian!

ตรงนี้มีทริก!!

เห็นมั้ยครับว่าที่ปลายด้ามปากกาจะไม่เห็นโลโก้ของ LAMY เลย

เห็นมั้ยครับว่าที่ปลายด้ามปากกาจะไม่เห็นโลโก้ของ LAMY เลย

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่กวนประสาทผมมาหลายปีดีดักครับเพราะผมไม่เคยสังเกต เคยมั้ยครับไม่ว่าจะมือเก่ามือใหม่นะ ที่พอเอาด้ามปากกาลามี่หมุนเข้ากับส่วนมือจับแล้วไอตัวโลโก้คำว่า LAMY มันไม่ได้หันขึ้นมาอยู่ด้านบนแต่ดันหันมาอยู่ด้านท้องปากกาแทน! เวลาที่เราจับปากกาขึ้นมาเขียนจึงไม่ได้เห็นคำว่า LAMY ไงล่ะ?! บางคนไม่เคยสังเกตล่ะสิ! ที่เป็นอย่างยี้ก็เพราะว่าตอนที่เราเอาด้ามปากกาประกอบเข้าด้วยกันนั้นเราหมุนตำแหน่งเกลียวผิดครับ

ILS101-1-17

  1. วิธีที่ถูกต้องคือ (มองจากมุมของเรานะ) ให้จับปากกาส่วนของมือจับไว้ในมือซ้ายพร้อม “หันขึ้นโดยให้เห็นคำว่า LAMY ที่สลักอยู่บน nib อยู่ด้านบน”
  2. มือขวาให้จับตัวด้ามปากกา “โดยให้หันด้านที่มีโลโก้ LAMY หันออกจากตัวเราไปข้างหน้า”
  3. เอามาเสียบกัน แล้วก็หมุน
ในที่สุดโลโก้ก็หันขึ้นอวดสายตาชาวโลกแล้วววว

ในที่สุดโลโก้ก็หันขึ้นอวดสายตาชาวโลกแล้วววว

เห็นมั้ยครับ?! ว่าในที่สุดโลโก้ของลามี่ก็จะหันขึ้นมาทุกทิศถูกทาง เขียนแล้วได้อวดสายตาประชาชาติไปพร้อมกับลายมือไก่เขี่ยของเราเลย


ใส่หมึกไปแล้วทำไมหมึกมันไม่ออกล่ะ?

ILS101-1-15

อย่าใจร้อนนะนักศึกษา! ก็แหมๆๆๆๆ เราเพิ่งเสียบไปตะกี้ จะให้หมึกออกมาเลยได้อย่างไรยังไม่ได้เวลาเลย ก็เพราะว่ามันเป็นปากกาหมึกซึมครับ เราจึงต้องรอให้หมึกค่อยๆ ออกมาจากหลอดหมึกไหลผ่านไปบนรางส่งหมึกและไปสัมผัสกับตัว nib ซึ่งสำหรับปากกาใหม่ต้องให้เวลากับจุดนี้สักพักครับเพราะว่าปากกาไม่เคยผ่านมือใครมาก่อน โดยปรกติเราจะต้องรอประมาณ 5 นาทีครับจึงจะใช้ได้ ซึ่งผมจะใช้วิธีช่วยให้เร็วขึ้นโดยการวางปากกาโดยให้ส่วนของด้ามเอียงขึ้นฟ้า ง่ายๆ ก็คือเอาส่วนด้ามไปพาดไว้กับสมุดหรือหนังสืออะไรก็ได้ครับก็จะช่วยให้หมึกไหลเร็วขึ้น เราอาจจะเอาปลายปากกามาแตะกับกระดาษทิชชูหรือลองเขียนก็ได้ครับเพื่อเช็คว่าหมึกไหลออกมาหรือยัง

แต่! ผมไม่แนะนำเป็นอย่างยิ่งหากจะทำการ “สะบัด” ปากกานะ! เพราะว่าหากคุณสะบัดแรงมีหวังได้อาบน้ำหมึกที่ไหลลงมาจากหน้าผากแน่ๆ อีกทั้งการสะบัดหรือเคาะปากกาหมึกซึมนั้น จะทำให้หมึกกระฉอกล้น nib ออกมาก ส่งผลให้ที่ด้านบนของ nib จะมีหมึกซึมผ่านรอบบากออกมาเลอะเทอะไปหมด ดูแล้วน่าเกลียดน่ารำคาญตาจริงๆ

ชอบเพลงนี้แต่ตัวหนังสือไม่สวย

ชอบเพลงนี้แต่ตัวหนังสือไม่สวย

หากรอได้เวลาแล้วก็ลองเอาปากกามาเขียนบนกระดาษได้เลย ซึ่งถ้าหากว่าหมึกออกไหลดีเขียนแล้วรู้สึกเป็นฮิปสเตอร์ก็เป็นอันว่าจบกระบวนการใช้งานปากกาหมึกซึมลามี่ด้ามใหม่แล้วล่ะครับ! ยินดีด้วย!


ปัญหาหมึกปากกาไหลไม่ต่อเนื่อง เส้นขาด หงุดหงิด!

“เย้! เขียนได้สักทีเว้ย! นี่นั่งปวดมาตั้งนานแล้วในที่สุดไอจารย์นี่ก็สอนจบสักที! เดี๋ยวจะออกไปนั่งที่โรงอาหารแล้วเก็กสเก็ตช์รูปอวดสาวดีกว่า!” ไอเกรียน เอ้ย! นายสมชายดีใจอย่างออกนอกหน้าที่จะได้ไปหลีหญิง

“แต่อาจารย์ปอนด์คะ แปลกมากเลยค่ะว่าทำไมปากกาของหนูถึงหมึกไม่ค่อยออก คือมันเขียนได้นะคะแต่พอลากเส้นไปสักพักก็เส้นขาด จู่ๆ หมึกก็หายไปดื้อๆ เลยอ่ะค่ะ หนูทำอะไรผิดไปหรือเปล่าคะอาจารย์ขา?” นักศึกษาขาวแถวหน้าถามคำถามด้วยหน้าตาเหมือนลูกหมาหิวนม

“อื้มมมมมม! โดยปรกติแล้วปากกาหมึกซึมลามี่ซาฟารีนั้นก็สามารถใส่หมึกแล้วนำมาใช้งานได้เลยนะ แต่ก็มีบางครั้งบางด้ามที่ไม่ได้เป็นเช่นนั้น นั่นก็เป็นเพราะว่าปากกาลามี่นั้นจะมีการทดสอบคุณภาพก่อนออกมาจากโรงงานยังไงล่ะ” อาจารย์ปอนด์ตอบคำถามอย่างผู้ทรงภูมิ

เรื่องมันก็คือว่าก่อนที่ปากกาลามี่จะถูกส่งออกมาวางจำหน่ายบนท้องตลาดได้นั้น จะต้องผ่านการทดสอบการเขียนก่อนทุกด้ามครับ วิธีการทดสอบนั้นก็คือจะมีการจุ่มปลายปากกาลามี่ลงบนหมึกแล้วทำการลากปากกาเขียนเป็นเส้นด้วยเครื่องจักรของโรงงาน จากนั้นจึงทำการบรรจุปากกาลงกล่องเพื่อจำหน่ายต่อไป นั่นจึงเป็นที่มาของคำถามจากคุณผู้อ่านหลายๆ ท่านที่ได้ปากกาด้ามนี้มาครั้งแรกว่า “ปากกาผมเหมือนเปื้อนหมึกสีน้ำเงินเลยครับ ผมโดนย้อมแมวหรือเปล่าครับ?” ก็ไม่ต้องกังวลนะสบายใจได้ว่าไม่ได้ย้อมแมวแต่เกิดเพราะหมึกที่ใช้ทดสอบปากกามันแห้งค้างตันในปากกาต่างหากล่ะ

คำแนะนำที่ผมมักจะตอบคุณผู้อ่านหลังไมค์อยู่เสมอๆ เลยนั่นก็คือผมจะแนะนำให้ล้างปากกาลามี่ด้ามใหม่ทุกครั้งที่ได้รับมาครับ เพื่อเป็นการล้างหมึกทดสอบที่แห้งตันตาม ink feed ออกให้หมดจด รวมถึงสิ่งสกปรกที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตครับ ซึ่งวิธีการล้างปากกาก็สามารถทำได้ง่ายๆ ครับนั่นก็คือ

ILS101-1-19

จุ่มส่วนหัวลงไปในน้ำแล้วหมุนก้านสีแดงไปมาจนเราเมื่อยนิ้ว

ถอดแยกปากกาออกมาเฉพาะส่วนมือจับครับ และการล้างปากกาทางที่ดีควรจะต้องมีหลอดสูบหมึกก้านแดงด้วยนะ แล้วก็เสียบเข้าไปในปากกาครับ จากนั้นก็เตรียมน้ำอุ่นไว้แก้วเล็กๆ น้ำอุ่นธรรมดาๆ ก็พอครับ “ห้ามใช้น้ำร้อนจัด” เดี๋ยวปากกาจะพัง จากนั้นก็ให้เราหมุนก้านของหลอดสูบหมึกสีแดงไปมาเพื่อบ้วนน้ำอุ่นเข้า-ออก หมุนหลายๆ รอบเลยครับหมุนไปเรื่อยๆ จนเราคิดว่า “ไม่อยากล้างแล้วเว้ย!” นั่นก็แสดงว่าเราล้างปากกาจนสะอาดเอี่ยมแล้วล่ะครับ จากนั้นก็เอาปากกาขึ้นจากน้ำแล้วก็ใช้ประดาษทิชชูซับน้ำให้แห้งสนิท วางปากกาผึ่งลมไว้สัก 2 ชั่วโมงก็ได้นะก็เป็นอันว่าขั้นตอนการล้างปากกาเสร็จสมบูรณ์แล้วล่ะครับ

“ว้าวววว! ปากกาหนูหมึกออกแล้วค่ะอาจารย์! ขอบพระคุณมากเลยค่ะอาจารย์ หนูรักอาจารย์ที่สุดในโลกเล้ย!” เด็กมันยั่วจงแข็งใจไว้

“ดีมากๆ นักศึกษาทุกคน อาจารย์หวังว่านักศึกษาทุกคนจะมีความสุขและสนุกสนานกับปากกาหมึกซึมลามี่ซาฟารีด้ามใหม่ด้ามนี้นะ เอ้าๆ เลิกคลาสได้” อาจารย์ปอนด์ประกาศอย่างภาคภูมิ

“เย้!!!!!!” เสียงยินดีดังกึกก้องไปทั่วทั้งท้องพระโรง

“อ้อ! อาจารย์มีคำเตือนสุดท้ายก่อนแยกย้ายกันนะนักศึกษา”

“อะไรคะ/ครับอาจารย์?”

“ระวังมันงอก!”

ILS101-1-21

ไม่กล้าคูณราคาเลย T_T

 

ปล. ใครอยากเห็นโรงงานผลิตปากกาลามี่ก็สามารถดูได้จากคลิปนี้นะ โคตรน่าไปเที่ยวเลยอ่ะ!

หากอ่านแล้วถูกใจชอบใจ ฝากกดแชร์ด้วยนะครับ ขอบคุณครับ \( - 3-)/
hackhq

คนธรรมดาที่หลงใหลในการสเก็ตช์ ใช้ปากกาลามี่เป็นอาวุธ มีสมุด Moleskine เป็นผืนผ้าใบและมีจินตนาการในรูปของสีน้ำ หลงใหลรูป รส กลิ่น ของกาแฟ และเคลิบเคลิ้มกับเสียงของดนตรีแจ๊ส | ติดต่อผมบนทวิตเตอร์ได้ที่ @hackhq

เว็บไซต์ : https://www.bbblogr.com