คาบ 2 : วิธีล้างปากกาหมึกซึมลามี่ซาฟารีอย่างถูกวิธีและปลอดภัย

in Pen, Pen Care by hackhq on 21 Sep 2015

“โหยอะไรอ่ะจารย์! จู่ๆ ก็มานัดคลาสกันตั้งแต่เช้าวันจันทร์เนี่ยอ่ะนะ วันศุกร์ยังเรียนกันปวดหัวไม่พอเหรอ?!” สมชายนักศึกษากวนส้นตะโกนขึ้นมาตั้งแต่ผมเดินเข้าชั้นเรียน

“ที่อาจารย์นัดเรียนกันในวันนี้ ก็เพราะอาจารย์ได้รับแจ้งเรื่องสำคัญจากเพื่อนๆ ผู้รักปากกาหมึกซึมนะซิ เลยจำเป็นต้องนัดเรียนด่วนๆ” อาจารย์พูดพลางถอนหายใจไปพลาง

“เรื่องสำคัญ? อาจารย์จะโดนปิดเว็บเหรอคะ? หรือว่าดองรีวิวนานจนคนอ่านก่อขบวนประท้วง” ทำไมวันนี้นักศึกษาขาวถึงพูดไม่ค่อยเข้าหูนะ? แปลก…

“เรื่องที่อาจารย์ได้รับแจ้งมานั่นก็คือ มีเว็บไซต์นึงได้เผยแพร่วิธีการล้างปากกาหมึกซึมลามี่แบบที่ผิดนะสิ ซึ่งวิธีที่เค้าเขียนนั้นไม่รู้ไปเอามาจากไหน ซึ่งถือว่าถ้าเอาไปทำตามอาจจะทำให้ปากกาหมึกซึมพังไปเลยก็ได้นะ!” อาจารย์ปอนด์ผู้รักปากกาหมึกซึมถอนหายใจและส่ายหัว

“กรี๊ดดดดด! ถ้าอย่างนั้นวิธีการล้างที่ถูกต้องและปลอดภัยเป็นอย่างไรคะ? พวกหนูกลัวลามี่ที่รักพังค่า” นักศึกษาขาวน้ำตารื้น…นางนี่ก็เว่อร์

“ถ้าอย่างนั้น เรามาเข้าสู่บทเรียนของคาบที่ 2 กันเลย!!”


การล้างปากกาหมึกซึมที่ถูกต้องนั้นเป็นอะไรที่ง่ายมากครับ และก็สามารถทำได้ง่ายๆ ทุกคนด้วย โดยที่ผมจะมาเล่าในวันนี้คือวิธีการ “ล้างทำความสะอาดปากกาลามี่ที่ถูกวิธีและปลอดภัยที่สุด” ซึ่งมีด้วยกัน 3 วิธีนั่นก็คือ

วิธีที่ 1 : บ้วนน้ำ

จากคาบเรียนที่แล้วเรื่อง “คาบที่ 1 : เรียนรู้และเริ่มใช้งานปากกาหมึกซึมลามี่ซาฟารี” ผมได้เปรยๆ เรื่องการล้างปากกาลามี่กันไปแล้ว คราวนี้เลยขอยกมาพูดแบบละเอียดๆ อีกสักนิด

สิ่งที่จำเป็นต้องมีก็คือ

1. น้ำอุ่น : อย่าให้ร้อนเกินไปเพราะเดี๋ยวปากกาพัง
2. หลอดสูบหมึก Z24 : ก้านสีแดงเอาไว้หมุนสูบน้ำ
3. ภาชนะใส่น้ำ : แก้วหรือถ้วยเล็กๆ ก็เพียงพอ จะใช้กาละมังซักผ้าหรือหม้อแกงหัวม้าลายก็ได้ไม่ว่ากันแต่ผมจะไม่ขอออกความเห็น

วิธีการ

ILS101-2-01
ILS101-2-02
เมื่อเตรียมน้ำอุ่นใส่ลงในแก้วแล้ว ให้ถอดปากกาลามี่ส่วนมือจับแล้วเสียบด้วยหลอดสูบหมึก จากนั้นจุ่มส่วนหัวของปากกาให้จมอยู่ในน้ำ หมุนก้านสีแดงไปมาเพื่อสูบน้ำอุ่นเข้ามาแล้วหมุนปล่อยน้ำออก ทำแบบนี้สลับไป-มาสัก 1 นาทีหรือจนกว่าจะเมื่อยนิ้ว แล้วจึงเปลี่ยนน้ำ
ILS101-2-05
เมื่อเปลี่ยนน้ำอุ่นครั้งที่ 2 ก็ให้ทำแบบเดียวกันกับครั้งแรกครับ ทำจนกว่าจะเห็นว่าน้ำที่ถูกสูบขึ้นมาบนหลอดมีน้ำที่ใส ระหว่างนี้คุณอาจจะลองเปลี่ยนน้ำอีกสักครั้งก็ได้ไม่ว่ากัน ทำจนเห็นว่าน้ำใสแจ๋วมองเห็นตัวปลาก็เป็นอันเสร็จสิ้นพิธี


วิธีที่ 2 : เปิดน้ำไหลผ่าน

วิธีการนี้ง่ายและสะดวกมากซึ่งผมมักทำบ่อยๆ เวลาที่ต้องล้างปากกาหลายๆ ด้าม จะให้มาหมุนม้วนตอนยอนต๊ะตอนยอนฮิปสเตอร์ก็กลัวจะเลยตีสาม

สิ่งที่จำเป็นต้องมีก็คือ

1. น้ำที่ไหลจากก๊อกน้ำ : ในเมื่อเราจะปล่อยให้น้ำไหลผ่านก็จำเป็นจะต้องมีก๊อกน้ำครับ จะยิ่งดีขึ้นไปอีกหากเป็นก๊อกน้ำที่มีน้ำอุ่นในตัว เพื่อจะให้ใช้น้ำอุ่นล้างให้สะอาดได้เร็วยิ่งขึ้น ใครจะใช้สายฉีดก้นมาล้างก็ไม่ว่าแต่ระวังปากกาปลิวลงชักโครกไปก็แล้วกัน …ได้ลามี่สี raw umber เลย กรั่ก

วิธีการ

ILS101-2-06ILS101-2-07ILS101-2-08

อืมมมม ใช้แค่นี้แหละ วิธีการก็คือ ถอดส่วนมือจับของปากกาลามี่แล้วจับไว้ให้มั่น เปิดน้ำจากก๊อกให้น้ำไหลผ่านปากกาตั้งแต่ส่วนปลายที่เราใช้ใส่หมึกไปสู่ส่วนหัวของปากกา คุณผู้อ่านจะตื่นตาตื่นใจมากครับเพราะว่าวิธีนี้จะล้างได้เร็วมาก เห็นสีของหมึกไหลมาเป็นทางเลย เราก็ถือไว้อย่างนั้นจนกว่าน้ำจะใสนะ

ILS101-2-09ILS101-2-10

ยังไม่จบ! ต่อมาให้เรากลับด้านครับ โดยคราวนี้ให้เปิดน้ำไหลผ่านจากส่วนหัวปากกาไปยังปลายปากกาบ้าง เพราะการเปิดน้ำไหลผ่านจากส่วนปลายจะยังไม่สามารถล้างในบางจุดซ่อนเร้นของส่วนหัวได้ เราก็สลับด้านล้างไปมาแบบนี้แหละครับจนกว่าน้ำจะใสเป็นอันจบ


วิธีที่ 3 : แช่

วิธีนี้เหมาะการล้างปากกาที่ใส่หมึกค้างไว้มานานแล้วไม่เคยล้างเลยหมึกจึงติดค่อนข้างแน่น การแช่แบบนี้จะช่วยให้หมึกที่ติดแน่นอยู่ล้างออกได้ง่ายขึ้นครับ แต่! ควรจะใช้วิธีแช่นี้หลังจากที่ล้างด้วยวิธีที่ 1 หรือ 2 แล้วเท่านั้นนะ ทำไม? เดี๋ยวรู้

สิ่งที่จำเป็นต้องมีก็คือ

1. น้ำอุ่น
2. ภาชนะใส่น้ำ : มีคนบอกบัวรดน้ำได้มั้ย …เห็นว่าผมเป็นคนตลกหรือไง?
3. เวลา : ไม่มีเหรอ? อ่านบล็อกนี้ให้น้อยลงสิ #จะเล่นมุกเข้าตัวเพื่อ?

วิธีการ

ILS101-2-11

หลังจากที่ล้างด้วยวิธี 1 หรือ 2 แล้ว ให้เอาส่วนมือจับของปากกาแช่ลงในน้ำอุ่นเลยครับ เอาให้ท่วมมิดตั้งแต่หัวจรดปลายหรือจะถ้าปากกามันลอยก็เอาพวกดินน้ำมันกาว (Blu-Tack) ติดยึดปากกากับก้นภาชนะก็ได้ จากนั้นก็เป็นเรื่องของเวลาล่ะ แช่ไปเลยครับข้ามคืน แช่เป็นวันก็ได้ หลังจากที่เวลาผ่านไปครบกำหนดแล้ว จึงค่อยหยิบขึ้นมาล้างด้วยวิธี 1 หรือ 2 อีกครั้ง เป็นอันเสร็จสิ้น

เห็นมั้ยว่าผมติด Blu-Tack ยึดปากกากันลอยไปกับสายน้ำด้วย

เห็นมั้ยว่าผมติด Blu-Tack ยึดปากกากันลอยไปกับสายน้ำด้วย

ทำไมถึงต้องล้างด้วยวิธี 1 หรือ 2 ก่อนล่ะ แช่เลยไม่ได้เหรอ?
ไม่แนะนำครับ! เพราะว่าการที่เราแช่ปากกาลงไปทั้งอย่างนั้น จะทำให้หมึกที่ค้างไหลออกมาปนกับน้ำ แล้วทีนี้เราก็แช่ปากกาลงไปไง ทำให้ตัวปากกาจมอยู่ในน้ำหมึกที่ไหลออกมาเป็นระยะเวลานาน ผลเสียก็คือ ปากกาที่มีสีสว่างเช่นเหลือง ชมพูหรือขาว จะกลายเป็นว่ามีสีของหมึกมาติดที่ตัวปากกาทำให้สีดูหม่นหมอง ยิ่งถ้าหากเป็นหมึกที่ติดแน่นทนนานหรือกันน้ำ ปากกาก็จะเปื้อนน่าเกลียดเช็ดออกยากไปเลยครับ ดังนั้นต้องล้างด้วยวิธีธรรมดาก่อนการแช่ทุกครับนะ


วิธีที่ 4 : ไซริงค์บอล

ILS101-2a-05

ว๊าาากกก อาจารย์ได้รับคำแนะนำมาจากเพื่อนมิตรรักปากกามาคนนึงครับ เค้าคนนี้ไม่ใช่ใครที่ไหน “คุณเอ็ม” แห่งร้านปากกา The PIPS Cafe’ และก็คุณผู้อ่านนามว่าคุณ Tewarit Panpian ขอบคุณครับ! ว่าน่าจะเขียนถึงวิธีการล้างวิธีนี้ด้วยนะเพราะว่าได้ผลเร็วและล้างได้สะอาดเอี่ยมอ่องแป้บเดียวน้ำใสเลย นั่นก็คือใช้ไซริงค์บอลลลลลลล…

ILS101-2a-01

วิธีนี้สิ่งที่จำเป็นต้องมีก็คือ

  1. น้ำอุ่น
  2. ไซริงค์บอล Syringe Ball : มันลูกยางเอนกประสงค์สีแดงสดครับ โดยประกติแล้วมันจะเอาไว้ใช้ดูดของเหลวประเภทต่างๆ สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาหรือว่าจะเป็น 7–11 (เอาใจว่าเอาไว้ดูดขี้มูกเด็ก กรั่ก) อย่างอันนี้ผมซื้อมาจากเซเว่นมาในราคา 63 บาทครับ เป็นขนาดเบอร์ 1 แต่ผมจำได้ว่าเมื่อก่อนตอนอยู่เชียงใหม่ผมเคยมีอยู่ลูกนึงน่าจะเบอร์ใหญ่กว่านี้หน่อยนึงครับ
  3. ภาชนะใส่น้ำ

วิธีการ

ILS101-2a-02ILS101-2a-03

จริงๆ แล้ววิธีการมันง่ายมากเลยนะครับ หลักการก็คือ เอาปลายของไซริงค์บอลนี้เองจิ้มเข้าที่ด้านท้ายของส่วนมือจับของปากกาลามี่ ผมอยากให้คุณผู้อ่านลองส่องเข้าไปข้างในดูครับจะเห็นว่า ที่ด้านในส่วนของมือจับจะมีก้านยื่นๆ กลมๆ ออกมา สิ่งนี้ก็คือปลายของ ink feed ครับ ซึ่งไอปลายยื่นๆ นี่เราจะทำการเอาไซริงค์บอล ไปจุ๊บก้นมัน …ภาษาธรรมดาคือ จะเสียบโดยให้ปลาย ink feed เข้าไปอยู่ในรูของไซริงค์บอลนั่นเอง

เห็นแล้วอนาถตัวเอง...

เห็นแล้วอนาถตัวเอง…

แต่เพราะไอไซริงค์บอล เบอร์ 1 นี้รูมันค่อนข้างเล็กไปหน่อยครับเสียบเข้าเสียบออกหลายทีก็ไม่ยอมเข้าเสียที ผมเลยต้องพยายามขยายรูมันด้วยการเอาซี่ของส้อมมาแยงเข้าไป ดันไปสักพักรูก็ขยายสมใจล่ะ

ILS101-2a-06ILS101-2a-07

เมื่อเอาไซริงค์บอลเสียบเข้าที่ส่วนมือจับของปากกาลามี่แล้ว ก็ให้ออกแรงบีบครับเพื่อไล่อากาศที่อยู่ข้างในบอลออกให้หมด จากนั้นก็เอาส่วนปลายปากกาไปจุ่มในน้ำอุ่นแล้วจึงปล่อยมือ ไซริงค์บอลก็จะค่อยๆ ขยายดูดน้ำอุ่นเข้าไปในตัวมันอย่างช้าๆ ผ่านหัวปากกา รอครับรอไปใจเย็นๆ จนกว่าไซริงค์บอลจะบวมกลับมาเท่าขนาดเดิม

ILS101-2a-08ILS101-2a-09

อันนี้เปลี่ยนน้ำแล้วนะ

อันนี้เปลี่ยนน้ำแล้วนะ

มาแล้วขั้นตอนโคตรสนุก! บีบบอลเลยพวกเรา! ออกแรงบีบไซริงค์บอลเพื่อไล่น้ำที่อยู่ข้างในออกมาครับ จะเห็นได้เลยว่าน้ำพุ่งล้างหมึกออกมาจากเร็วและแรงมาก น้ำหมึกออกมาเยอะและใสเร็วมากครับ เมื่อบีบจนหมดแล้วก็ให้ทำซ้ำอีกสักรอบ จากนั้นให้เปลี่ยนน้ำครับแล้วทำอีกครั้งเป็นครั้งสุดท้าย เห็นมั้ยครับว่าแป๊บเดียวน้ำใสเลย สามารถล้างปากกาได้สะอาดแถมรวดเร็วจริงๆ

คำแนะนำ

เนื่องจากน้ำที่พุ่งออกมาค่อนข้างแรง แนะนำว่าให้ใช้อีกมือจับปากกาเอาไว้ด้วยนะครับเพราะมันอาจจพุ่งหลุดออกมากับแรงของน้ำด้วยก็ได้ อย่างไอไซริงค์บอลของผมมันเป็นเบอร์ 1 รูเลยคับติดแน่นดี แต่ถ้าคุณผู้อ่านซื้อไอไซริงค์บอลที่มีขนาดใหญ่กว่านี้มา รูก็จะใหญ่ขึ้นและปากกาอาจจะหลุดได้นั่นเองครับ


ซับให้แห้ง

ILS101-2-14

นี่ก็เป็นอีกขั้นตอนนึงที่เราต้องให้ความสำคัญครับ เมื่อล้างปากกาเสร็จทุกครั้งต้องเช็ดให้แห้ง น้ำกระดาษทิชชูมาซับน้ำออกให้หมดจากตัวปากกา แตะไว้ที่ปลาย nib บ้างเพื่อเร่งให้น้ำที่ค้างอยู่ใน ink feed ไหลออกมาให้หมด แล้วก็ตั้งตากลมไว้ให้แห้งครับ ตั้งข้ามคืนก็ได้เพื่อให้แน่ใจว่าแห้งแล้วจริงๆ เมื่อก่อนผมจะให้วิธีตั้งตากพัดลมไว้ครับเพื่อให้แห้งได้เร็วขึ้น แต่หลังจากที่เอาพัดลมไปจำนำ ผมก็เปลี่ยนมาตั้งข้ามคืนแทนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา…

ILS101-2-13

เป็นอันเสร็จสิ้นสมบูรณ์ถึงวิธีการล้างปากกาลามี่ที่รักของเราๆ แล้วครับ หากใครอยากหาข้อมูลเพิ่มเติมหรือดูวิดีโอสอนการล้างปากกาลามี่ ก็สามารถเข้าชมได้ที่ลิ้งค์นี้นะ : http://www.lamy.com/content/products/services/care_tips/index_eng.html


คำถามเจ้าปัญหา : เราสามารถใช้น้ำยาล้างจานล้างปากกาหมึกซึมได้ไหม?

คำตอบที่ไม่ว่าใครมาถามผม ผมก็จะขอยืนยันคำตอบเดียวเท่านั้นคือ…

ไม่แนะนำเด็ดขาด! ใช้แค่น้ำอุ่นก็พอ!

ทำไม? นั่นก็เป็นเพราะว่าเราไม่รู้ครับว่าในน้ำยาล้างจาน น้ำยาเช็ดกระจก สบู่เหลว หรือสารทำละลายอื่นๆ ถึงแม้จะทำการผสมกับน้ำเปล่าแล้วก็เถอะ นั้นอาจก่อให้เกิดผลเสียกับวัสดุที่อยู่ข้างในปากกาหมึกซึมได้ครับซึ่งเสียหายมากน้อยเพียงแตกต่างกันตามวัสดุกันไป และที่แน่ๆ หากว่าเป็นปากกาหมึกซึมแบบวินเทจหรือปากกาหมึกซึมโบราณบางรุ่นบางยี่ห้อที่ด้านในประกอบด้วยวัสดุที่เป็นยาง การที่ถูกล้างด้วยน้ำยาล้างจานก็จะอาจจะทำให้ส่วนยางนั้นเสียหายได้ โดยเฉพาะปากกาหมึกซึมระบบ piston fill หรือก็คือมีระบบสูบหมึกในตัว การล้างด้วยสารทำความสะอาดพวกนี้จะทำให้สารหล่อลื่นที่ช่วยให้หลอดสูบเลื่อนได้สะดวกจางหายไปกับการล้าง ทำให้ตัวสูบหมึกติดขัดจนไม่สามารถใช้งานได้นั่นเอง

ลองคิดง่ายๆ คือหากวันนึงคุณพ่อของคุณผู้อ่านได้ส่งมอบปากกาหมึกซึมรุ่นวินเทจไม่ว่าจะเป็น Montblanc หรือ Parker รุ่น pistol fill มาให้ แต่คุณเห็นว่าควรจะล้างสักทีนะ แล้วก็จับล้างด้วยน้ำยาล้างจาน แค่คิดว่าปากกาล้ำค่าแบบนี้ต้องมาพังในมือเราโดยที่ยังไม่ได้เขียนเลยด้วยซ้ำ แค่นี้ผมก็อยากร้องไห้แล้วล่ะครับ

…พ่อครับ ปอนด์ไม่เคยล้าง Monblanc เก่าแก่ของพ่อด้วยน้ำยาล้างจานเลยนะ น้ำอุ่นตลอดครับอย่าเพิ่งโทรมาด่านะ…

ทั้งนี้ผมยังได้ถามความเห็นจากเซียนปากกาหมึกซึมท่านนึงที่เราต่างก็รู้จักกันเป็นอย่างดีกันอยู่แล้วเพื่อประกอบการตัดสินใจด้วย ชายคนนี้คือ “คุณแฟร้งค์” แห่งเว็บปากกา fontoplumo.nl โดยแกให้ความเห็นไว้ดังนี้

“I would only use luke warm (I use only cold) water to clean the pen.
Some people use a bit of soap or ammonia but I only did once for a demonstrator pen which had big ink stains inside. Otherwise never.When a pen is inked for a long time and hasn’t been used, I prefer to clean it and then put the front part in a cup of water for the night (I take out the nib and feed).”

ผมใช้วุ้นแปลภาษาถอดความโดยสรุปได้ว่า…

“ผมใช้เพียงแค่น้ำอุ่นไม่ก็น้ำธรรมดาในการล้างปากกา บางคนใช้สบู่หรือแอมโมเนียเพียงเล็กน้อย แต่ผมเคยใช้เพียงแค่ครั้งเดียวกับปากกา demonstrator pen (ในภาษาปากกาคือปากกาที่เป็นแบบใสให้เห็นการทำงานข้างใน) เพราะว่ามันมีรอยเปื้อนหมึกขนาดใหญ่ด้านใน นอกจากนั้นก็ไม่ใช้เลย

เมื่อปากกาเติมหมึกมาเป็นเวลานานแต่ไม่ได้ถูกใช้ ผมเลือกที่จะทำความสะอาดมันโดยจุ่มส่วนมือจับของปากกาลงในน้ำแล้วแช่ข้ามคืน (ผมแยกส่วน nib และ ink feed ออกจากกันด้วย)”

ขอขอบพระคุณความเห็นที่มากล้นไปด้วย “ประสบการณ์จากการใช้งานจริง” ในการใช้ปากกาหมึกซึมของคุณแฟร้งค์มา ณ ที่นี้ด้วย ขอบคุณครับ!

…อะไรนะ? ยังอยากจะใช้น้ำยาล้างจานล้างปากกาลามี่อยู่อีกเหรอ? ผมลองหาข้อมูลเพิ่มเติมครับและก็พบเข้ากับข้อมูลนี้บนเว็บไซต์ LAMY อย่างเป็นทางการว่า
lamy-usa

“Warning: Do not use any kind of detergent when washing your pen. After you have cleaned it, dry the front part thoroughly and drain it completely using an absorbent piece of material.”

– ที่มา: http://www.lamyusa.com/care_fountain.php

แปลโดยสรุปคือ “คำเตือน:ห้ามใช้สารทำความสะอาดทุกชนิดในการล้างปากกา หลังจากล้างเสร็จก็ต้องทำให้แห้ง ซับน้ำให้หมดจากส่วนมือจับด้วยวัสดุซับน้ำ”

ในเมื่อ LAMY official บอกถึงขนาดนี้ คุณยังจะ “เสี่ยง” ล้างปากกาลามี่สุดรักด้วยน้ำยาล้างจานอยู่อีกเหรอ?

แต่สุดท้ายแล้ว ผมอยากให้คุณผู้อ่านทุกท่านคิดพิจารณาและใตร่ตรองด้วยตัวเองให้ดีในการจะทำอะไรกับปากกาหมึกซึมสุดรักของท่าน ปากกาบางด้ามมีมูลค่าสูง หรือบางด้ามมีคุณค่าทางจิตใจอย่างไม่อาจประเมินได้ ดังนั้นเราต้องอยากที่จะดูแลมันให้อยู่กับเราไปตลอดกาล จริงมั้ย?


คำถามเสริมท้าย : ใช้พวกน้ำยาล้างปากกาได้ไหม?

ตามความเห็นส่วนตัวของผม ผมมองว่าเราใช้แค่น่ำอุ่นธรรมดาก็เพียงพอแล้วสำหรับการล้างหมึกแบบธรรมดาจากปากกาของเราครับ แต่ก็มีบางครั้งที่เราใช้หมึกแบบกันน้ำที่ติดแน่นทนนาน ยกตัวอย่างเช่น Platinum Carbon Black แล้วเราไม่เคยล้างเลยมาเป็นเวลาหลายเดือน ย่อมที่จะเกิดการเหนียวและอุดตันของหมึกได้ ล้างด้วยน้ำอุ่นก็ต้องล้างหลายครั้งหน่อยกว่าจะสะอาด แต่ถ้าอยากให้เร็วก็สามารถใช้น้ำยาล้างแบบเฉพาะได้ครับ
Rotring Cleaning Fluid-1

เมื่อชาติที่แล้ว ผมเคยได้รีวิวน้ำยาล้างปากกาเขียนแบบ Rotring Cleaning Fluid แต่ก็หายากเหลือเกินเพราะไทยเลิกนำเข้าแล้ว (เมืองนอกก็เลิกผลิตแล้วป่ะ?) แต่ผมก็ยังมองว่ามันแรงเกินไปสำหรับปากกาหมึกซึมครับ ใช้เมื่อจำเป็นจริงๆ คือเช็ดบางรอยเปื้อนก็พอ แต่ว่าในโลกเรานี้ยังมีน้ำยาล้างปากกาหมึกซึมอยู่อีกหลายยี่ห้อ ซึ่งทั้งนี้เราต้องดูให้ดีครับว่ามัน “ทำออกมาเพื่อปากกาหมึกซึมจริงๆ” ไม่ใช่ใช้กับปากกาประเภทอื่น แล้วถ้าจะให้ดีก็ดูให้ลึกถึงส่วนผสมของน้ำยาด้วย

เดี๋ยวจะเข็นน้ำยาตัวนี้มารีวิวให้อ่านกันนะ

เดี๋ยวจะเข็นรีวิวน้ำยาตัวนี้มาให้อ่านกันนะ ดองไว้นานแระ กรั่ก


“เป็นอันว่าจบคาบเรียนที่ 2 เรื่องการล้างปากกากันแล้วนะ อาจารย์หวังเป็นอย่างยิ่งว่านักศึกษาทุกคนจะได้ล้างปากกาลามี่ด้ามสำคัญยิ่งอย่างถูกวิธีและที่สำคัญต้องปลอดภัยต่อปากกาเราด้วย” อาจารย์ปอนด์พูดไปปาดน้ำตาด้วยความปลื้มปริ่มไป

“โห่เว้ย! ทำไมจารย์ไม่สอนให้มันเร็วๆ กว่านี้! เมื่อวานผมว่างจัดเลยเอาเป็ดล้างห้องน้ำมาแช่ จากลามี่สีเหลืองกลายเป็นสีม่วงเลย!” สมชายผู้โง่เขลาตะโกนอย่างเจ็บแค้น

“ก็ดีแล้วไม่ใช่เหรอนายสมชาย ลามี่ไม่เคยทำด้ามสีม่วงมาเลยนะ เจ๋งดีออก ครุคริครุคริ” นักศึกษาขาวแซวยั่วส้น

“มันจะดีกว่านี้ถ้า nib ไม่ละลายหายไปด้วยนะเซ่! ต้องเสียเงินซื้อ nib ใหม่เลย เพลีย!”

“เอาล่ะๆ วันนี้กลับบ้านก็ลองไปล้างปากกาดูนะ แล้วถ้ามีคำถามอะไรเพิ่มเติมก็มาถามกันได้บนเพจของอาจารย์นะ https://www.facebook.com/bbblog.sketchblog วันนี้ขอจบเพียงเท่านี้!” ทุกคนลุกพรึบกลับบ้านเพื่อไปล้างปากกา

“อาจารย์ขา แล้วคาบหน้าอาจารย์จะสอนอะไรหนูค้า?” เด็กมันยั่ว

“อาจารย์ก็ไม่รู้ ตอนนี้หมดมุกแล้วครับ…”

หากอ่านแล้วถูกใจชอบใจ ฝากกดแชร์ด้วยนะครับ ขอบคุณครับ \( - 3-)/
hackhq

คนธรรมดาที่หลงใหลในการสเก็ตช์ ใช้ปากกาลามี่เป็นอาวุธ มีสมุด Moleskine เป็นผืนผ้าใบและมีจินตนาการในรูปของสีน้ำ หลงใหลรูป รส กลิ่น ของกาแฟ และเคลิบเคลิ้มกับเสียงของดนตรีแจ๊ส | ติดต่อผมบนทวิตเตอร์ได้ที่ @hackhq

เว็บไซต์ : https://www.bbblogr.com