How to illustrate #2 : วาดภาพประกอบ “Jigsaw – จิ๊กซอว์”

in How to Illustrate by cherishmoon on 30 Jun 2017

ขณะที่นั่งทานข้าวอยู่ ผมก็ได้มีโอกาสได้รับชมข่าวสารทางโทรทัศน์ (อย่าเรียกว่าชมเลย นั่งฟังอยู่ห่างๆ เหอะ) “ช่วงที่ผ่านมาประเทศเราเกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ในภาคใต้ ประชาชนได้ประสบความเดือดร้อน…” ข่าวก็เล่าไปพร้อมภาพ แล้วภาพก็ตัดไปอีกช่อง เหมือนคนโดนแฟนตบหน้าอย่างไม่ทันตั้งตัว โห! คนกำลังอินเลย เปลี่ยนช่องมั้ยหว่าาา (ได้แต่นึกในใจ…)

ตัดมาอีกช่องก็กลายเป็นข่าวเรื่องป่าไม้ที่ถูกตัดและทำลาย ดูข่าวกำลังจะรู้เลยว่าเกิดขึ้นที่ไหน แล้วก็โดนตบซ้ำอีก ภาพตัดไปอีกแล้วเว้ยเห้ย แหม่! ช่องนี้ว่าด้วยเรื่องของปลาวาฬ เป็นสารคดีเกี่ยวกับชีวิตปลาวาฬ สัตว์น้ำตัวโตในทะเล มันกำลังเดินทางไปยัง… มันเปลี่ยนช่องอีกแล้ว! คราวนี้หนักเลยโดนทั้งน้ำสาดแล้วบอกเลิกกัน… ไม่ไหวละ เฮียเก็บตังครับ… กลับบ้านพร้อมกับอารมณ์ค้างคาถึงตอนจบของข่าวสารต่างๆ 555 เก็บกดและยังเบลอๆ กันไป

ก่อนอื่นขอสวัสดีครับ ชาว bbblogr.com พบกันอีกเป็นครั้งที่ 2 แล้วครับ สำหรับ how-to-illustrate ในตอนนี้ผมขอเอาเรื่องราวที่ผมเก็บกดไว้มาระบายกลายเป็นงานภาพประกอบ จากเหตุการณ์ย่อหน้าแรกที่ผมประสบมา ผมจะยำ ขย้ำ คลุกเคล้าเข้าด้วยกัน เพื่อให้ได้มาซึ่ง concept ใน how-to-illustrate ตอนที่ 2 นี้ละกันนะครับ พร้อมกันหรือยังครับ?​ ว่าแล้วก็มาเริ่มลุยกันเลย!

เริ่ม

How to illustrate ตอนที่ 2 นี้ จากหลายๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บ้างเกิดในเวลาใกล้ๆ กันแต่อาจจะอยู่ไกลถึงคนละซีกโลก หรือบ้างก็เกิดที่เดียวกันแต่คนละเวลา บ้างเชื่อมโยงกันเป็นลูกโซ่ที่ยุ่งเหยิง หากเรานำเรื่องราวที่ได้รับมาอย่างกระท่อนกระแท่น ตกๆ หล่นๆ ที่เหมือนจิกซอมาประกอบให้กลายเป็นรูปภาพประกอบจินตนาการในแบบของเรา และนี่คือที่มาของ concept ภาพ “จิกซอ” ในคอลัมน์ how-to-illustrate ตอนที่ 2 นี้ครับ

Concept

อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า concept ของ how-to-illustrate ในตอนนี้ผมจะนำเอาเรื่องของข่าวสารที่รับมาเสมือนเป็นจิกซอของภาพที่แตกต่างกันมาผสมปนเป ยำ คลุก ออกมาให้เป็นงานภาพประกอบ ซึ่งตอนนี้ผมมี “น้ำและบ้าน” จากข่าวน้ำท่วม “ต้นไม้” จากข่าวการตัดต้นไม้ทำลายป่า และ “ปลาวาฬ” จากสารคดี ในเมื่อเราได้ตัวละครในภาพประกอบแล้ว ก็มาถึงการลงมือต่อจิกซอกันแล้วครับ ก่อนอื่นว่ากันเรื่องของอุปกรณ์กันก่อน

อุปกรณ์

อุปกรณ์ที่ผมใช้ในการวาดภาพครั้งนี้ประกอบด้วย
1. ดินสอ lead-holder ของ Kita-Boshi
2. สีน้ำ Shinhan PWC
3. พู่กัน Escoda Ultimo เบอร์ 0, เบอร์ 2 และเบอร์ 8
4. จานสีแบบพกพา FOME ผมชอบแบบหลุมเยอะๆ หน่อย
5. กระดาษ Stillman & Birn : Beta 270 แกรม สีขาวแบบ cold-pressed

ลงมือ

ขอเริ่มจาก “ปลาวาฬ” สัตว์ที่โดนผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ ยกตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำอุ่นอะไรแบบนั้น ลองคิดดูว่า สัตว์ตัวใหญ่ที่อาศัยในทะเลกว้างที่มีพื้นที่ 3 ใน 4 ของโลกใบนี้ แต่กลับมีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับพื้นที่ที่มันอาศัยอยู่ มันช่างน่าเศร้าจริงๆ

จากนั้นก็มาถึงข่าวตัดต้นไม้ทำลายป่า ซึ่งเป็นตัวแทนของธรรมชาติบนพื้นดิน 1 ใน 4 ของโลก ผมจะนำเสนอผ่านต้นไม้บนพื้นดินที่เป็นเกาะ และแน่นอนเกาะนี้มันต้องลอยอยู่เหนือน้ำ

ปัญหาโลกร้อนกำลังส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมของโลกใบนี้เป็นอย่างมาก การที่ภูเขาน้ำแข็งขั้วโลกละลาย ทำให้ระดับน้ำทะเลที่หนุน ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเกิดน้ำท่วม

เก็บรายละเอียดและตกแต่งองค์ประกอบเพิ่มเติม

เมื่อจบเรื่องเส้นๆ ของดินสอกันแล้ว ก็มาเริ่มเรื่องของสีสันกันต่อนะครับ สีน้ำพร้อม พู่กันพร้อม ถังน้ำพร้อม ผ้าเช็ดพู่กันมี แสงพร้อม (ทำไมต้องแสงพร้อมด้วยนี่มันไม่ได้มาถ่ายวีดีโอสักหน่อย ไว้จะเอามาอธิบายที่หลังนะครับ)

เอาละครับ คราวนี้ก็หายใจลึกๆ ทำตัวผ่อนคลาย 555 แล้วมาลงมือกัน พร้อมแล้วก็ลุย!

ผมขอเริ่มจากการลงสีต้นไม้ ก่อนเลยนะครับ ผมเลือกใช้สีอ่อน ในที่นี้ผมใช้สีเหลืองลงเป็นอันดับแรกเพื่อจะได้กำหนดเรื่องของแสงในภาพไปด้วยในตัว เสร็จแล้วก็ตามด้วยสีเขียวอ่อน และเข้มตามลำดับ ทำให้ต้นไม้ดูมีมิติขึ้น

ตามด้วยบ้านเหนือผิวน้ำที่ไม่ได้โดนน้ำท่วมไปด้วย ขอเริ่มจากหลังคาก่อน ลงสีโดยอาศัยทิศทางของแสงที่เราลงในต้นไม้ จากภาพจะเห็นได้ว่าต้นไม้แสงเข้ามาจากทางด้านซ้ายของภาพ

แล้วก็มาถึงตัวบ้านที่อยู่ใต้น้ำทะเล ในขั้นตอนนี้ผมเลือกที่จะผสมสีของน้ำทะเลเข้าไปในสีเดิมที่ใช้ระบายบ้านด้วย และแน่นอนว่าโทนสีจะต้องเข้มกว่าสีของบ้านด้านบนเพราะอยู่ใต้น้ำ

และสุดท้ายก็มาจบที่ภาพของปลาวาฬสัตว์น้ำตัวโตของเรา ผมเลือกลงสีโดยใช้สีน้ำเงินเข้มแล้วตามด้วยการแตะสีม่วงในขณะที่สีน้ำกำลังมาดๆ

Tip

ในขณะที่ผมลงสีน้ำเงินเข้มแล้วตามด้วยสีม่วงนั้น หากต้องการให้สีอ่อนลงก็ให้ใช้น้ำเปล่าแตะตามลงไปซึ่งจะทำให้ภาพเกิด texture ที่เป็นดวงๆ กระจายออกเป็นวงกว้าง หรืออีกวิธีก็คือจะใช้พู่กันแห้งดูดสีจากกระดาษขึ้นมาก็จะทำให้เกิด texture สีที่จางลงเป็นวงแคบ การใช้ทั้ง 2 เทคนิคนี้จะช่วยสร้าง texture ที่ดูคล้ายกันครับ ซึ่งก็แล้วแต่เราว่าจะชอบเทคนิคไหนนะ

เก็บรายละเอียดของภาพอีกนิดหน่อยก็เป็นอันเสร็จแล้วครับสำหรับงานชิ้นนี้ของผม

เป็นอันเสร็จแล้วสำหรับงานภาพประกอบตอนที่ 2 “จิ๊กซอว์” โดยตอนนี้ได้นำเอา concept จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและได้รับรู้มาก ไม่ว่าจะจากข่าวในโทรทัศน์ และจากหลายๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียง แต่อยู่ไกลหรือแม้จะเกิดขึ้นในที่เดียวกัน เราสามารถที่จะเชื่อมโยงหลากความยุ่งเหยิง แล้วนำเรื่องราวเหล่านี้ที่อาจจะมีตกๆ หล่นๆ ไปบ้างเหมือนจิกซอ จับนำมาเล่าผ่านการสร้างภาพประกอบ ถือเป็นการสร้างสรรค์ภาพแทรกเนื้อหาไว้ในตัวงานให้มีความน่าใจอีกวิธีนึงครับ

ก่อนจะบอกลากันสำหรับตอนที่ 2 นี้ ผมอยากฝากเรื่องการวาดและลงสีน้ำไว้หน่อยนะครับ พยายามทำมันบ่อยๆ ฝึกปรือให้บ่อยครั้ง เชื่อผมเหอะว่า basic skill ธรรมดาๆ แต่ถ้าเราแน่นและมีพื้นฐานดี มันจะมีความสำคัญยิ่งกว่าการใช้เทคนิคขั้นเทพๆ อีกนะ เพราะถ้าเราพื้นฐานดีแล้ว ต่อไปเราก็จะสามารถเลือกเอาเทคนิคใดก็ได้มาเสริมภาพวาดนั้นให้ดูดีได้มากยิ่งขึ้นไปอีกครับ (อาจารย์ผมเคยบอกไว้สมัยผมเรียนอยู่ ปี 1 แฮะๆ แก่ไปมั้ยเนี่ย)

ขอเป็นกำลังใจให้ทุกๆ ท่านชอบวาดภาพครับ หวังว่าคงจะถูกใจชาว bbblogr.com กันนะครับ ^^

หากอ่านแล้วถูกใจชอบใจ ฝากกดแชร์ด้วยนะครับ ขอบคุณครับ \( - 3-)/
โพสตอนนี้อยู่ในหมวด How to Illustrate และมี tag ดังนี้ , , , , , , โพสเมื่อวันที่ .
cherishmoon

เพียงผู้ชายธรรมดา ที่ไม่มีทักษะการวาดเส้นและระบายสี มีเพียงภาพวาด งานศิลปะ การ์ตูน หนัง และหนังสือเป็นแรงบันดาลใจ ไม่ได้เก่งกาจอะไร จึงต้องพยายามฝึกปรือจนมามีงานภาพวาดและ style เป็นของตัวเอง ผ่านงานที่มีชื่อว่า cherishmoon

เว็บไซต์ : http://cherishmoon.com/