How to Sketch #2 : ตีฟจุดเดียว One-Point Perspective

in How to Sketch by Louis on 27 Nov 2015

สวัสดีทุกท่านอีกครั้งจ่ะ

เนื่องจากผมเป็นนักวาดที่ชอบเหลือเกินในการวาดอาคาร ตรอกซอกซอย-วิถีชีวิตผู้คน เลยมีเรื่องนึงที่อยากมาแนะนำผู้อ่านที่นั่ลลักทุกท่าน

ก็คือเรื่องการเขียน Perspective นั่นแหละครับ

อย่างที่ทราบกันว่า Perspective หรือภาพทัศนียภาพนั้น มีอยู่ 3แบบ คือ

  • One-Point Perspective : หรือที่เรียกสั้นๆ กันว่า ‘ตีฟจุดเดียว
  • Two-Point Perspective
  • Three-Point Perspective

และวันนี้ ที่เราจะมาพูดถึงกันก็คือ One-Point Perspective ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐาน เบๆง่ายๆฮะ


One-Point Perspective

อ่ะ มาดูตัวอย่างตีฟจุดเดียวกันหน่อย

Fushimi Inari, Kyoto

IMG_9555

รูปตัวอย่างหมดละ 55555 ไม่ค่อยได้ถ่ายรูปเท่าไหร่ มาดูรูปตัวอย่างที่เป็นรูปวาดของเราแทนละกัน

พระวิหารคด วัดสุทัศน์ฯ

ref04

ตลาดซักแห่ง ในจังหวัดภูเก็ต

ref01

หรือถ้าใครไปต่างประเทศคงจะได้เห็น Scene แบบนี้บ่อยๆ ที่เป็นถนนสายยาวแล้วปลายถนนเป็นโบสถ์หรือแลนด์มาร์คงามๆ

St.Mary’s Church, Brussels

ref03

Madrid, Spain

ref02

 

คิดว่าคุณๆๆ คงจะเคยเจอปัญหากันมาบ้าง เวลาที่จะวาดอาคาร ฉากหลัง แล้วไม่รู้ว่าเส้นสายของไอตึกเนี่ยยยยมันต้องพุ่งไปทางไหน? ไปทางนี้จะผิดตีฟมั้ย? บางคนก็กลัวการวาดอาคารไปเลยก็มี ลองค่อยๆอ่านทำความเข้าใจดู ถ้าสงสัยก็ยกมือถามข้างล่างได้เลยยยนะจ๊ะ One-Point Perspective(ต่อไปนี้จะเรียกตีฟจุดเดียว) เป็นเรื่องง่ายๆ นิดเดียวนะตัวเทอว์

01

ที่ๆเราจะมาวาดกันก็คือ “ซอยท่าเตียน” ครับ

ใครที่ติดตามกันในเพจจะเห็นว่ามีช่วงนึงเราบอกว่าไปท่าเตียนบ่อยๆ 55555 นี่แหละ ไปหามุมนี้มา

ที่เลือกที่นี่เพราะเราชอบย่านนี้จริงๆให้ตายเถอะ ไม่บรรยายสรรพคุณให้มากความละ เอาเป็นว่าใครไม่เคยไปก็ลองไปเดินเล่นดูซักทีนะ ยิ่งช่วงหน้าหนาวจะได้บรรยากาศดีๆมาก ;D

 

1. อ่ะๆมาดูที่รูปกันก่อน

02

เริ่มแรกเลย จะเห็นว่าเราเอารูปต้นแบบที่มุมมองกว้างหน่อย  เพื่อให้ได้ลองฝึกการใช้สายตาในการจัดองค์ประกอบ เลือกและตัดสินใจว่าจะวาดหรือไม่วาดอะไรบ้าง อย่างในกรอบเส้นประสีเหลือง คือเราก็เลือกไว้ว่าถ้าวาดตามภาพต้นแบบเป๊ะๆ จะเห็นตัวพระมณฑปเล็กนิดเดียว ไม่เข้ากับหน้ากระดาษที่ใช้ งั้นก็ขยับเข้าไปอีกนิดละกัน เพื่อองค์ประกอบที่สวยงาม ไรงี้

อย่าลืมว่าเวลาเราไปยืนอยู่ในสถานที่จริง มันไม่มี “กรอบ” ของภาพมาให้เราเป๊ะๆ ว่าจะวาดจากไหนถึงไหน เป็นสาเหตุให้หลายๆ คนงุนงงกันมากฮะ เรื่องนี้ต้องใช้ความชำนาญและการฝึกฝนการจัดองค์ประกอบภาพซักหน่อยครับ

03

เวลาที่เลือกกรอบภาพที่จะวาดแล้วเนี่ย ที่ต้องคำนึงต่อมาเลยก็คือเส้นกึ่งกลางของภาพนะฮะ หรี่ๆ ตามองดูเอาว่ากึ่งกลางของภาพอยู่ตรงไหน อย่างของผมนี่จะเห็นว่าเส้นกลางอยู่ตรงมุขของอาคารที่ยื่นออกมา ทีนี้ก็จำไว้เพื่อใช้สำหรับการร่างภาพในขั้นต่อไปครับ

เอ้ออ! แล้วก็ระวังอย่าให้จุดเด่นของภาพมาป๊ะอยู่ตรงกลาง (ยกเว้นถ้าภาพที่ต้องการสื่อถึงความยิ่งใหญ่ เช่นภายในวิหาร อนุเสาวรีย์หรือแลนด์มาร์คต่างๆ)

สำหรับใครที่ใช้สมุดแบบหน้าคู่ ก็จะมีเส้นกึ่งกลางที่แบ่งหน้าไว้อยู่แล้ว เป็นการฝึกให้ไม่เอาจุดเด่นวางไว้ตรงกลางได้ดีครับ ….แต่ผมก็เคยดื้อเอามาไว้ใกล้ๆตรงกลางดู วาด+ลงสีลำบากมากกก 5555555

04

ทีนี้มากำหนดเส้น Horizon Line กันต่อ

Horizon Line คืออะไร?

Horizon Line ก็คือ “เส้นขอบฟ้า” ระดับของเส้นนี้มักจะเปลี่ยนแปลงไปตามระกับที่เรายืนหรือนั่ง ซึ่งมีหลักการวางตำแหน่งของมันง่ายๆ อยู่คือ

ไม่ควรวางอยู่ตรงบริเวณเส้นประสีแดง คือกึ่งกลางของภาพ จำไว้ว่าถ้าเป็นภาพทิวทัศน์ทั่วๆ ไป การจัดวาง Composition แบบ 50:50 หรือครึ่งๆ เนี่ย เป็นการจัดที่น่าเบื่อระดับ 8 หมื่นนนน!!!!

  • ถ้า Horizon Line อยู่บริเวณเส้นหมายเลข 1 หรือเหนือเส้นประสีแดงขึ้นไป ก็แปลว่าเรากำลังมองลงอยู่ จะพบในภาพมุมมองแบบ Bird’s eye view
  • ถ้า Horizon Line อยู่บริเวณเส้นหมายเลข 2 หรือต่ำกว่าเส้นประสีแดงลงมา ก็แปลว่าเรากำลังมองขึ้น จะพบในภาพมุมมองแบบ Normal eye view ทั่วๆไป และWorm’s eye view

ส่วนมากผมก็เอา Horizon Line ไว้ตรงแถวๆ หมายเลข 2 นี่แหละครับ ให้มีพื้นที่ท้องฟ้าประมาณ 70% พื้นอีก 30% กำลังดีนะ

06

รู้จัก Horizon Line ไปแล้ว มารู้จัก Vanishing Point กันต่อ

Vanishing Point คืออะไร?

Vanishing Point ถ้าแปลตรงๆ ตัวก็คือ “จุดอันตรธาน” หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า “จุดตีฟ” เป็นจุดสมมติที่เราตั้งขึ้นเพื่อให้เป็นจุดบรรจบของ เส้น Perspective ของบ้านแต่ละหลัง รถแต่ละคัน สิ่งของแต่ละอย่าง ใน scene นั้นๆ  พอเรารู้ว่า Vanishing Point เนี่ยมันอยู่ตรงไหน เราก็จะรู้ว่าเส้นของอาคารเนี่ยมันต้องพุ่งไปทางนั้นแน่ๆ

ซึ่งตีฟจุดเดียว ก็คือตีฟที่มี Vanishing Point จุดเดียวนั่นเองฮะ

 

แล้วเราจะรู้ได้ไงว่าไอ้ Vanishing Point เนี่ย มันอยู่ตรงไหน???

05

วิธีสังเกตง่ายๆ ก็คือ ดูจากแนวเส้นอาคาร(เส้นสีแดงๆ)ว่ามันพุ่งยาวไปทางไหน จุดที่เส้นทั้งสามมาเจอกัน นั่นแหละฮะ Vanishing Point

อย่างถาพนี้เนี่ย Vanishing Point จะวางอยู่บน Horizon Line ตรงบริเวณพระมณฑป

และคล้ายๆกับหลักการวาง Horizon Line ก็คือในภาพทั่วๆ ไปเนี่ย ผมก็มักจะเอา Vanishing Point มาอยู่ค่อนไปทางซ้ายหรือขวาของภาพ มากกว่าที่จะอยู่ตรงกลางครับ

ถ้าถามว่า “เห้ยย! พี่! มันจำเป็นมั้ยที่หนูต้องมาหาไอจุด Vanishing Point ก่อนจะวาดเนี่ย???”

…ที่ต้องรู้องค์ประกอบ 2 อย่างคือ Vanishing Point กับ Horizon Line เนี่ย ก็เพื่อให้เราสามารถเข้าใจหลักการ และเขียนภาพ Perspective ได้อย่างแม่นยำฮะ จะได้รู้ว่าทำไมมุมมองนี้ ถึงเห็นเป็นอย่างนั้น เป็นต้น

ทีนี้ พอรู้องค์ประกอบทั้งสองอย่างนั้นแล้ว เวลาจะมองสิ่งของต่างๆ (รถ, อาคาร ฯลฯ) ให้ลองจินตนาการว่าเป็นกล่องใสๆ พุ่งเข้าหาจุด Vanishing Point ครับ

07

08

สังเกตอะไรบางอย่างมั้ยฮะ?

  • ของอะไรก็ตามที่สูงกว่า Horizon Line เนี่ย มันก็จะพุ่งลงเข้าหา Vanishing Point
  • และของอะไรก็ตามที่ต่ำกว่า Horizon Line มันก็จะพุ่งขึ้นไปยัง Vanishing Point

และนี่ก็เป็นการเช็คง่ายๆ ว่า สิ่งที่คุณกำลังวาดอยู่นั้น ผิดตีฟหรือเปล่านั่นเองครับ

…คุณๆ คงเคยได้ยินคำว่า “ผิดตีฟ”

ง่ายๆ ผิดตีฟก็คือการที่เส้นไม่ได้เข้าหาจุด Vanishing Point ในลักษณะที่กล่าวมาข้างบนน่ะแหละ

12

ลองวาดให้ดูให้เข้าใจง่ายๆ ว่าจากมุมมองที่แตกต่าง เราก็จะเห็นรูปทรงเดียวกันต่างกันไป

เออ จะบอกว่าทุกวันนี้ที่เราออกไปวาดรูปนี่ก็ไม่ได้มานั่งหา Vanishing Point อะไรพวกนี้แล้วล่ะฮะ จะเน้นไปที่มุมมองและการจัดองค์ประกอบภาพยังไงให้ดูน่าสนใจมากกว่า เพราะถามว่ามันก็ไม่มีใครมานั่งตรวจกะจับผิดภาพเราหรอก 55555  อีกอย่างคืออย่าไปเครียดกับเรื่องพวกนี้จนมากไป เครียดมากทำให้วาดรูปไม่สวยนะ

แต่ในอีกแง่นึงสำหรับคนที่เพิ่งเริ่มต้นหรือตั้งใจจะฝึกเนี่ย การรู้หลักการไว้ก็ไม่เสียหายนะจ๊ะ

จบภาคทฤษฎี

เห็นมะ ง่ายนิดดดดดดดดดดดดดเดียว


2. ร่างภาพ

อ่ะให้ดูรูปต้นแบบอีกที แต่ไม่มีกรอบเส้นประให้ เอาไว้ฝึกสายตาเนอะ 55555

01

มันยากทุกครั้งใช่มั้ยครับเวลาที่ต้อง “เริ่ม” จากหน้ากระดาษขาวๆ ให้กลายเป็นเส้น-เป็นภาพที่เราต้องการ

สิ่งแรกที่เราจะทำ(ตรงนี้สำคัญมากนะจ๊ะ บอกอยู่ทุกคอลัมน์555555) คือการ mark ตำแหน่งขององค์ประกอบสำคัญของภาพก่อนครับ

และสิ่งแรกที่ผมร่างก็คือ เส้นขอบฟ้า หรือ Horizon Line นั่นเอง

กะตำแหน่งของเส้นนี้ให้ใกล้เคียงกับที่เราเห็น หรือจำง่ายๆว่าให้แบ่งเป็นท้องฟ้า 70% และพื้น 30% ก็ได้ฮะ

09

แล้วก็ plot ตำแหน่งของ Vanishing Point ลงไปตามภาพ

จากนั้นเขียนเส้นที่สำคัญมากๆ ในรูปนี้ ก็คือเส้นเฉียงของหลังคาอาคารในซอยเนี่ยแหละครับ ถือเป็นเส้นโครงสร้างหลักของ Perspective ในภาพเลยทีเดียว
คนส่วนใหญ่มักจะไม่สังเกตว่าเส้นนี้เอียงในองศาแค่ไหน เลยทำให้ซอยมันดูกว้างกว่าเป็นจริงมากๆ

(เอ้อ ลืมบอก ห้ามใช้ไม้บรรทัดนะ 55555)

อีกอย่างนึงก็คือ จำที่บอกว่าให้สังเกตเส้นกึ่งกลางของภาพได้ใช่มะครับ
ทีนี้เราก็ใช้เส้นกึ่งกลางของสมุดเนี่ยแหละในการอ้างอิงตำแหน่ง ความกว้าง/ความยาวของ object ต่างๆ

อย่างภาพนี้ เราก็วัด(ใช้สายตา)ว่าส่วนของตึกทางซ้ายที่ยื่นออกมาจากกึ่งกลางกระดาษ ยื่นออกมาในสัดส่วนเท่าไหร่เมื่อเทียบกับหน้ากระดาษ/ความกว้างซอย/รถยนต์/บลาๆๆ เป็นต้ลล

10
พอได้โครงหลักๆของภาพแล้ว ที่เหลือก็ไม่ค่อยมีอะไรแล้วฮะ หน้าต่าง ประตูก็เป็นแพทเทิร์นซ้ำๆ กันแต่มีขนาดไล่เลี่ยกันเข้าไปตามจุด Vanishing Point

ส่วนรถยนต์ เวลาวาดก็ลองนึกถึงกล่องสี่เหลี่ยมเข้าไว้แล้วก็ทำขอบมุมของกล่องสี่เหลี่ยมนั้นให้มนๆหน่อย จะช่วยให้เราเข้าใจรูปทรงของรถได้ดีขึ้น

11

เนื่องจากในภาพนี้มีส่วนที่เป็นสถาปัตยกรรมไทยอยู่นิดหน่อย นั่นก็คือพระมณฑปที่เป็นจุดเด่นของรูป

เราเลยมีขั้นตอนการเขียนพระมณฑปนี้ ด้วยวิธีง่ายๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ เพียง 8 ขั้นตอนมาฝากด้วย

หวังว่าจะเอาไปใช้ประยุกต์กับการวาดสถาปัตยกรรมไทยอื่นๆกันได้นะครับ

13b 14c

จะเห็นว่าที่เขียนไปนั้นเราก็ใช้แค่รูปทรงเราขาคณิตง่ายๆอย่างสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยมมารวมๆ กันเท่านั้นเอง จะมีที่แปลกๆหน่อยก็แค่เส้นโค้งของเครื่องยอดมณฑปนิดๆ หน่อยๆ จากนั้นพอเขียนรูปทรงรวมๆครบก็เขียนให้เป็นเส้นคู่ในบางจุดอย่างสันหลังคา รวยระกา ฯลฯ เท่านี้ก็เสร็จแล้วฮะ


3.ตัดเส้น

ขั้นตอนนี้ก็จะคล้ายๆ เดิมแล้วล่ะ เพียงแต่เปลี่ยนจากดินสอมาเป็นปากกา ยังไม่มีเทคนิคอะไรแตกต่างมาก เพราะส่วนสำคัญในคอลัมน์นี้จะเน้นให้เข้าใจการเขียนภาพ Perspective จุดเดียวก่อน ที่เหลือคือการจบงานแล้วฮะ

สำหรับคนที่ไม่กล้าใช้ปากกาเพราะกลัวงานเสีย …
…อันนี้ไม่มีทางลัดจริงๆ นอกจากใช้มันให้บ่อยขึ้นๆๆๆๆๆ นะจ๊ะ

เริ่มจากเขียนระยะหน้า หรือส่วนที่ทับกับของข้างหลังก่อน
สำหรับภาพนี้เราใช้ปากกา Rotring 0.3mm เพื่อให้เขียนรายละเอียดได้พอสมควร

15

เขียนระยะกลางของภาพ คืออาคารในซอยทั้งซ้ายขวา โดยที่

อย่าลืม!!!!!!!!!!!!!!!!

ความหนาของทุกสรรพสิ่ง เช่นความหนาของเสาอาคาร เชิงชายหลังคา เป็นต้น

16

เขียนระยะหลังของภาพ

พอเขียนๆ ไปแล้วรู้สึกรูปมันขาดๆ อะไรไปซักอย่าง เหมือนมันไม่จบสมบูรณ์

เลยกลับมาเติมตึกทางซ้ายให้ต่อมาอีกหน่อย

17

อ่าาาา เท่านี้ก็จบส่วนการตัดเส้นด้วยปากกาแล้วฮะ

จริงๆ เท่านี้ก็ถือว่าเสร็จแล้วแหละ แต่ไหนๆ ก็วาดมาขนาดนี้แล้ว เลยแถมสีน้ำต่อเลยละกัลลล


4.ลงสีน้ำ

อ่าาาาา มาๆๆ ค่อยๆ ลงกันทีละส่วนเนอะ

เราเริ่มลงจากส่วนหลังสุดที่เป็นจุดเด่นของภาพก่อน

ถ้าดูจากรูปต้นแบบจะเห็นว่าตัวพระมณฑปเนี่ยสีเยอะมาก เพราะเกิดจากการตกแต่งด้วยกระเบื้องสีต่างๆ

เวลาลงสีน้ำก็เลยใช้วิธีแบบเปียกบนเปียกด้วยสีหลักๆ ก็คือแดง-เหลือง-น้ำเงิน(นิดเดียว) และเขียว

พอแแห้งก็ตบเงาลงนิดหน่อยเป็นอันเสร็จ

ส่วนต้นไม้ก็ลง Sap Green+Indian Yellow ไปก่อนให้เป็นส่วนที่โดนแสง พอแห้งก็ตบเขียวที่เข้มขึ้นเช่น Hooker’s Green หรือเขียว+น้ำตาลในส่วนที่เป็นเงา เท่านี้ก็เรียบร้อย

18

ถัดมาก็ลงสีระยะกลาง

ทางซ้ายที่เป็นอาคารเหลืองๆนี่ ส่วนผนังอาคารเราก็ใช้ Indian Yellow ผสมBurnt Sienna นิดนึงเพื่อให้ได้สีเหลืองมัสตาร์ด (ถ้าใช้ Indian Yellow อย่างเดียวสีจะออกสว่างไปหน่อยน่ะ) พอแห้งก็ลงสีหน้าต่าง ประตูด้วย Hooker’s Green

ผนังชั้นล่างก็ต้องมีเงาจากหลังคากันสาดฮะ สีผนังเลยเข้มกว่าของชั้นบน วิธีทำของผมก็ลงสีผนังปกติเหมือนชั้นบน รอให้แห้ง แล้วก็ฉาบสีน้ำตาลอ่อนๆ+ม่วงนิดๆลงไปครับ

ทางขวาที่เป็นพื้นที่ใต้หลังคานี่ไม่ได้ลงสีดำไปเลยนะฮะ แต่เป็นการใช้ Burnt Sienna + Vandyke Brown +Cobalt Blue+Brown Madder(แดง)นิดนึง ผสมๆ กันไป 555555 ทั้งนี้ก็เพื่อให้ได้มิติของสีที่มากขึ้น ถ้าเราใช้สีดำปาดแป๊ดดดดดไปเลยเนี่ย มันจะออกมาดูแบนมากๆ เลยตัวเธอ

 

นิดนึงเรื่องสีดำ ไอเจ้าสีดำเนี่ย มันมีคุณสมบัติดึงดูดสายตามากๆ เลยครับ ซึ่งที่บอกดึงดูดตาเนี่ยก็ไม่ได้แปลว่าเป็นข้อดีเสมอนะครับ เพราะบางทีมันจะแย่งซีนองค์ประกอบกับจุดเด่นในภาพไปมากโขเลยทีเดียว

19

ทีนี้ก็ลามมาลงสีทางซ้ายเรื่อยๆ ด้วยวิธีการเดียวกัน เพิ่มเติมคือคอยลงเงาในส่วนความหนาขององค์ประกอบต่างๆ เช่น เสา ขอบปูนตรงหน้าต่าง ซุ้มโค้งตรงหน้าต่าง ฯลฯ

ส่วนถนนก็ลง Indigo จางๆ ไปชั้นนึงก่อน

นี่ก็ดูเกือบเสร็จละ แต่ยังขาดพวกเงาของวัตถุอยู่อ่ะคุณ

20

แล้วก็หันมาลงสีรถ ลงเฉพาะสองคันหน้าที่เห็นรายละเอียดเยอะๆ ใช้Indigo ลงในส่วนตัวถังรถ แล้วก็ใช้แดง+ส้ม+เหลืองลงส่วนไฟท้ายรถ รอให้ Indigo ที่ลงเมื่อกี๊แห้ง แล้วลงเงาบนตัวรถอีกชั้นนึงฮะ

ส่วนรถคันหลังๆนี่ก็ลงสีน้ำเงินจางๆเป็นบางจุดก็พอฮะ

 

กลับมาที่ถนน พอสีชั้นแรกแห้งแล้ว ก็ลงเงาของตึกทางขวาที่มันพาดมาบนถนนครับ(ส่วนนี้สำคัญอยู่เหมือนกัน เพราะมันช่วยให้ Tone ของภาพดูเข้มขึ้น ดูมีมิติน่าสนใจขึ้น) ด้วย Indigo+Cobalt Blue แซมๆ Brown Madder นิดๆ
แล้วก็อย่าลืมลงสีเงาของรถลงไปที่ถนนด้วยนะจ๊ะ

21

สุดท้ายก็วกมาลงสีท้องฟ้าด้วย Cerulean Blue เป็นท้องฟ้าออกสดใสๆหน่อย เว้นขาวสำหรับเป็นเมฆบ้าง เขียนชื่อสถานที่นิดๆหน่อยๆ เท่านี้ก็เรียบร้อยฮะ รูปภายนอกนี่จะไม่ค่อยมีรายละเอียดจุ๊กจิ๊กเหมือนพวกร้านกาแฟ เลยจบงานง่ายกว่า เร็วกว่านิดนึง

22b

 

FINALLYYYYYY!!!!!!

23b

สีที่สแกนกับที่ถ่ายมาไม่เคยตรงกันอ่ะ 555555555555555

 

ผ่านไปอีกครั้งกับคอลัมน์ที่สองของข้าพเจ้าเกี่ยวกับการเขียนภาพ One-Point Perspective หวังว่าพี่ๆ น้องๆ ที่เข้ามาอ่านจะได้ความรู้ไปไม่มากก็น้อยเช่นเคย ส่วนคราวหน้าจะเขียนเกี่ยวกับ Two-Point Perspective มั้ย? อันนี้เราเองก็ยังไม่รู้ 5555555 ถ้าเจออะไรที่น่าสนใจกว่าก็อาจจะชิงเขียนก่อน 5555555 เอาแน่เอานอนไม่ได้

นอกจากเกร็ดความรู้ที่พอจะหาได้เป็นกระสัยในคอลัมน์นี้แล้ว 555 เราหวังเป็นอย่างยิ่งอีกครั้งว่าคุณๆ ท่านๆ ที่ต้องการฝึก จะได้ฝึกเขียนตามภาพ ตามขั้นตอนที่ได้เขียนไว้ …เออ เมื่อคราวที่แล้วมีน้องๆ ส่งรูปที่ฝึกเขียนร้านกาแฟจากคอลัมน์เรามาให้ดู ดีใจน้ำตาปริ่มมากๆ ขอให้น้องเก่งขึ้นๆ ไวๆ นะจ๊ะหนู 555555555

 

สุดท้าย

อยากให้ทำ How to Sketch เกี่ยวกับอะไรก็คอมเม้นมาบอกกันได้นะจ๊ะ
หรือถ้าคุณผู้อ่านมีคำถามในขั้นตอนไหน ก็ถามมาได้เช่นกันนะ
ถามๆๆๆๆๆ เข้ามาได้เลยคุณ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคุณๆ จะได้ประโยชน์จาก How To ที่เราเขียนมาอย่างยืดยาวว

ขอบคุณที่อ่านกันมาถึงตรงนี้ครับ 

หากอ่านแล้วถูกใจชอบใจ ฝากกดแชร์ด้วยนะครับ ขอบคุณครับ \( - 3-)/
โพสตอนนี้อยู่ในหมวด How to Sketch และมี tag ดังนี้ , , , , , , , , , , , โพสเมื่อวันที่ .
Louis

สถาปนิกตัวเล็กๆคนนึง เชื่อว่าทุกคนสามารถวาดรูปให้ดีได้ เพียงแค่ชอบมันเท่านั้นเอง

เว็บไซต์ : https://www.facebook.com/lllouissketcher